ไชย ส่องอาชีพ เมื่อ 21 เมษายน 2551
ตามประวัติความเป็นมาของปาล์มน้ำมันนั้น กล่าวกันว่า เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแถบแอฟริกาตะวันตก แต่ในราวปี 2531 มีชาวโปรตุเกสได้นำพืชชนิดนี้มาปลูกที่เมืองโบกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย จากนั้นได้แพร่ขยายสู่ประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศไทย ในปี 2472
ช่วงแรกเป็นเพียงงานศึกษาวิจัยเท่านั้น แต่ในปี 2511 มีการส่งเสริมปลูกอย่างจริงจัง ที่จังหวัดสตูล 20,000 ไร่ และจังหวัดกระบี่อีก 20,000 ไร่
หลังจากนั้นอีก 10 ปีต่อมา พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันได้ขยายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉลี่ยปีละ 50,000-100,000 ไร่ ตัวเลขล่าสุดกว่า 3 ล้านไร่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในแถวๆ ภาคใต้ ด้วยว่าโรงงานรับซื้อผลผลิตไม่ได้ขยายสู่ภาคอื่น และสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยด้วย
อย่างไรก็ตาม ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ได้มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งทดลองนำพืชชนิดนี้มาปลูกที่ภาคตะวันออก ปรากฏว่าได้ผลผลิตไม่แตกต่างจากภาคใต้มากนัก และต่อมามีนายทุนตั้งโรงงานรับซื้อผลผลิตปาล์มน้ำมันที่นี่ด้วย
แม้ว่าปัจจุบันนี้มีพื้นที่ปลูกรวมๆ กันแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ล้านไร่ แต่ก็ยังไม่เพียงกับความต้องการ เพราะว่าการบริโภคพืชชนิดนี้มีแนวโน้มที่เปลี่ยนไป กล่าวคือ ไม่เพียงเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่างๆ และน้ำมันไว้ใช้ในครัวเรือนเท่านั้น แต่ยังนำมาแปรรูปเป็นไบโอดีเซล เพื่อทดแทนพลังงานหรือน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วย
เมื่อปี 2547 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกับแผนปฏิบัติการการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล ตามที่กระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพนำเสนอ ทั้งนี้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักในการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันให้ได้ 10 ล้านไร่ ภายในปี 2572 และจัดหาพันธุ์ปาล์มน้ำมันเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกตามโครงการด้วย
เมื่อปาล์มน้ำมันมีประโยชน์หลากหลายดังที่ได้กล่าวมาแล้ว และทางรัฐบาลมีเป้าหมายที่ชัดเจนจะส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลจากพืชชนิดนี้ ประกอบกับตลาดต่างประเทศมีความต้องการอยู่ตลอด ทำให้ราคารับซื้อผลผลิตปาล์มสดปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ เกือบ 6 บาท ต่อกิโลกรัม เลยทีเดียว
จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้เกษตรกรหรือชาวบ้านทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาคใต้ เหนือ กลางและอีสาน ตื่นตัวปลูกปาล์มน้ำมันเป็นอาชีพกันมาก
ลืมข้อจำกัดในการรับซื้อ ผลิต และสภาพแวดล้อมหรือพื้นที่เหมาะสม นั่นก็คือ ปลูกทุกสถานที่ที่มีพื้นที่ว่าง โดยขาดการวางแผนและการจัดการที่ดี ซึ่งเป็นภัยอันตรายต่ออาชีพนี้ กล่าวคือ แทนที่ได้รับกำไรหรือผลตอบแทนดี กลับต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งผลผลิตไปจำหน่ายและการบำรุงหรือการดูแลต้นพืชด้วย
ยิ่งไม่มีความรู้เรื่องเมล็ดพันธุ์แล้ว ก็ยิ่งไปกันใหญ่ เนื่องจากพืชชนิดนี้จำเป็นต้องนำสายพันธุ์ที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์มาปลูก ไม่เช่นนั้นผลผลิตที่ได้รับมีปริมาณลดน้อยลง ไม่คุ้มกับการลงทุน
ภาครัฐบาล โดยกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่นิ่งนอนใจ พยายามประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ประชาชนหรือเกษตรกรรับรู้ถึงปัญหาที่จะตามมา
ในอดีตจากการศึกษาและทดลอง พบว่า พืชชนิดนี้จะให้ผลผลิตดีที่สุด จำเป็นต้องปลูกในพื้นที่ภาคใต้ เพราะว่าที่มีความชื้นและอุณหภูมิที่เหมาะสม แต่ปัจจุบันนี้มีข้อมูลยืนยันจากการปฏิบัติทั้งทางวิชาการและชาวบ้าน ว่าสามารถปลูกพืชได้ผลดีเกือบทุกพื้นที่โดยเฉพาะที่ลุ่มหรืออยู่ใกล้ๆ แหล่งน้ำ หรือมีระดับน้ำใต้ดินในช่วงหน้าแล้งประมาณ 1 เมตร
ลักษณะพื้นที่ดังกล่าวมีพบเห็นทุกภาคของประเทศ แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ หากปลูกแล้วจะไปจำหน่ายที่ไหน ซึ่งตอนนี้กลายเป็นประเด็นที่น่าติดตาม เนื่องจากปัจจุบันนี้มีชาวบ้านหลายรายทยอยปลูกพืชชนิดนี้และเริ่มให้ผลผลิตกันบ้างแล้ว
"ส่วนใหญ่โรงงานที่รับซื้อผลผลิตปาล์มน้ำมันอยู่แถวๆ ภาคใต้ และภาคตะวันออก เพราะว่ามีพื้นที่ปลูกปาล์มเยอะ ส่วนภาคอื่นๆ แทบจะไม่มี ดังนั้น ใครที่คิดจะปลูกปาล์มน้ำมันเป็นอาชีพต้องระมัดระวังเรื่องนี้ให้มาก ไม่ใช่ปลูกจากภาคเหนือหรืออีสาน เมื่อได้ผลผลิตแล้วก็ขนส่งมาจำหน่ายในระยะทาง 400-500 กิโลเมตร มันไม่คุ้มกัน" ดร.สมเจตน์ ประทุมมินทร์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการผลิตปาล์มน้ำมัน กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวย้ำถึงข้อระวังในการปลูกปาล์มน้ำมันเป็นอาชีพ
พร้อมกับแนะนำว่า เกษตรกรหรือผู้สนใจเรื่องนี้ ขอให้มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มจะดีกว่า ทั้งนี้เพื่อมีอำนาจการต่อรองกับภาคเอกชนที่จะตั้งโรงงานรับซื้อผลผลิตในพื้นที่ พร้อมกับขอความร่วมมือด้านวิชาการหรือเทคโนโลยีก่อนหรือหลังเก็บเกี่ยวกับหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบเรื่องนี้อยู่ด้วย
ดร.สมเจตน์ กล่าวว่า แม้ว่าปาล์มน้ำมันสามารถเจริญเติบโตในพื้นที่ลุ่มได้ทั่วประเทศ แต่ที่เหมาะสมควรจะได้รับการส่งเสริมคือ ภาคอีสาน เนื่องจากในเขตพื้นที่นี้มีสภาพป่าไม้น้อย ไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ในขณะภาคอื่นๆ มีสภาพแวดล้อมหรือป่าไม้ค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว นอกจากนี้ พื้นที่ลุ่มที่ภาคอีสานส่วนหนึ่งเป็นดินทรายไม่เหมาะกับทำนาหรือทำการเกษตรอย่างอื่นด้วย
และจากการสำรวจพื้นที่อีสานทั้งหมดพบว่า จังหวัดที่มีศักยภาพมากที่สุดมี 8 จังหวัด คือ หนองคาย อุบลราชธานี มุกดาหาร ศรีสะเกษ นครพนม อำนาจเจริญ สกลนคร และนครพนม
"ตอนนี้เราได้มีโครงการนำร่องส่งเสริมให้ปลูกปาล์มน้ำมันที่อำเภอน้ำยืน อำเภอบุณฑริก อำเภอนาจะหลวย จังหวัดอุบลราชธานี และอำเภอกันทรลักษ์ อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ และบางส่วนของจังหวัดหนองคายแล้ว โดยให้เกษตรกรรวมกลุ่ม รวมๆ พื้นที่ประมาณ 60,000 ไร่ ทางกรมมีหน้าที่ให้ยืมต้นกล้าไปปลูกในอัตราไร่ละไม่เกิน 25 ต้น และได้ประสานกับภาคเอกชนให้มีโรงงานสกัดน้ำมัน พร้อมกับโรงงานกลั่นไบโอดีเซลเกิดขึ้นที่นี้ด้วย โดยจะให้เกษตรกรในโครงการเป็นเครือข่ายของระบบการจัดการที่สะอาด ไม่มีกากอุตสาหกรรมหลงเหลือทำลายมลภาวะ ซึ่งทางกระทรวงพลังงานจะเข้าช่วยเหลือในส่วนนี้ด้วย" ดร.สมเจตน์ กล่าว
และว่า จากการสำรวจความเหมาะสมของพื้นที่ดังกล่าว โดยการขุดเจาะดินเพื่อดูระดับน้ำใต้ดินเปรียบเทียบกับความต้องการของปาล์มน้ำมันแล้ว มั่นใจว่า จะสามารถปลูกปาล์มน้ำมันได้ผลผลิตไม่น้อยกว่าการปลูกปาล์มน้ำมันในภาคใต้ โดยเฉลี่ยผลผลิตไม่น่าจะต่ำกว่า 2.7 ตัน
ดร.สมเจตน์ กล่าวว่า ปีหน้าทางกรมจะขยายพื้นที่ส่งเสริมอีก 4 จังหวัด ได้แก่ มุกดาหาร อำนาจเจริญ สกลนคร และนครพนม โดยให้ทุกสถานที่ที่ไปส่งเสริมนั้น มีโรงงานสกัดน้ำ โรงงานผลิตปุ๋ย และโรงงานผลิตไฟฟ้าใช้เอง
"เราต้องการให้ทุกกลุ่มที่เข้าไปส่งเสริม กลายเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชน และเน้นการใช้พลังงานอย่างประหยัด เพื่อเป็นต้นแบบให้จังหวัดหรือกลุ่มอื่นๆ ที่คิดจะปลูกปาล์มน้ำมันเข้ามาดูงานต่อไป"
"ภาคอีสานมีพื้นที่อยู่กว่า 100 ล้านไร่ มียางพาราอยู่ 1 ล้านไร่เศษ และทุ่งนาประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งพื้นที่ทำนาส่วนหนึ่งเสื่อมโทรมมาก เพราะว่าอยู่บนดินทราย จึงอยากนำส่วนนี้มาพัฒนา โดยการปลูกปาล์มน้ำมันเข้าไปแทนที่" ดร.สมเจตน์ กล่าว
และว่า ขณะนี้มีภาคเอกชนประกอบด้วยบริษัทร่วมทุนระหว่างประเทศจากมาเลเซียและเยอรมนี และภาคเอกชนไทย 1 ราย แสดงความสนใจที่จะลงทุนก่อสร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มจำนวน 4 โรงงาน ในจังหวัดอุบลราชธานี 1 แห่ง หนองคาย 2 แห่ง และสกลนคร 1 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งจะครอบคลุมแหล่งปลูกปาล์มน้ำมันไม่ต่ำกว่า 60,000 ไร่
"เราวางแผนก่อสร้างอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ประกอบด้วยโรงงานไฟฟ้า โรงงานผลิตปุ๋ย และโรงงานผลิตไบโอแก๊ส อย่างละ 1 แห่ง เพื่อช่วยรักษาสภาพแวดล้อมในพื้นที่ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศและอาจนำไปสู่การขายคาร์บอนเครดิต เพื่อเป็นช่องทางให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น"
ในอนาคตข้างหน้า ดร.สมเจตน์ ฝันอยากเห็นภาคอีสานมีสวนยางพารา 2 ล้านไร่ และปาล์มน้ำมัน 8 ล้านไร่ ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นสภาพแวดล้อมกลับกลายเป็นป่า นำความชุ่มชื้น เกิดน้ำอีกครั้ง และที่สำคัญสภาพดินเค็มก็จะค่อยๆ จางหายไปด้วย
"ตอนนี้ทางนักวิชาการ รวมทั้งผมด้วย กำลังทำโครงการศึกษาเรื่องความเปลี่ยนแปลงของปาล์มน้ำมันที่ปลูกในภาคอีสาน ซึ่งจากการเก็บตัวอย่างของปาล์มน้ำมันทั่วๆ ไป ไม่ว่าจะแปลงทดลองหรือแปลงปลูกของเกษตรกร พบว่าทางใบสั้นลง ซึ่งเข้าใจว่าในภาคอีสานนี้มีแสงอาทิตย์มากหรือยาวกว่าภาคใต้ ทำให้พื้นสามารถสังเคราะห์แสงได้ดีกว่า ส่งผลให้มีลักษณะทางใบสั้นลง ซึ่งเรื่องนี้มีผลดีมาก เพราะว่าอาจจะสามารถปลูกปาล์มน้ำมันต่อไร่เพิ่มขึ้น จาก 22 ต้น กลายเป็น 27-30 ต้น ก็ได้ แน่นอนที่สุดผลผลิตก็ย่อมเพิ่มขึ้นด้วย" ดร.สมเจตน์ กล่าว
เมื่อถามว่า ภาคเหนือมีศักยภาพในการปลูกปาล์มน้ำมันหรือไม่ ดร.สมเจตน์ กล่าวว่า พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในภาคเหนือ จำเป็นต้องมีการศึกษาและวิจัยให้รอบคอบเพื่อให้การส่งเสริมเป็นไปอย่างถูกต้อง
"จริงๆ แล้วเราอยากส่งเสริมการปลูกปาล์มน้ำมันที่ภาคอีสานมากกว่า เพราะว่ามีพื้นที่ป่าลดน้อยลง ภาคเหนือเหมาะสมสำหรับปลูกพืชเมืองหนาวมากกว่า และที่สำคัญอุณหภูมิค่อนข้างเย็นด้วย ซึ่งไม่เหมาะกับการปลูกปาล์มน้ำมัน ยกเว้นในเขตพื้นที่ลุ่มแถวๆ จังหวัดเชียงใหม่ น่าจะปลูกได้ แต่ขอย้ำไว้ว่า ต้องรวมกลุ่มกัน ไม่เช่นนั้นแล้ว ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน"
ดร.สมเจตน์ กล่าวสรุปภาพรวมว่า ปาล์มน้ำมันนั้นสามารถปลูกได้ทุกภาคของประเทศไทย แต่จะได้ผลตอบแทนมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักๆ ดังนี้คือ ตัวของเกษตรกรเองว่าชอบอาชีพนี้หรือไม่ ถ้าต้องรู้จักการเรียนรู้หรือการจัดการที่ถูกต้อง นอกจากนี้ สภาพพื้นที่ปลูกต้องเหมาะสม คือน้ำใต้ดินช่วงแล้งไม่ต่ำเกินไป ควรอยู่ระดับ 1 เมตร หรือไม่เช่นนั้นต้องมีพื้นที่ปลูกอยู่ใกล้ๆ แหล่งน้ำก็ได้ เพื่อที่จะดูดน้ำมาใช้ในช่วงฤดูแล้ง อีกประการหนึ่งที่สำคัญมากก็คือ ต้องมีโรงงานรับซื้อผลผลิตอยู่ใกล้ๆ พื้นที่ปลูก ไม่เช่นนั้นกำไรที่ได้รับจะลดน้อยลง เพราะว่าเสียเงินในการขนส่งสูงเกินความจำเป็นไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น