ปาล์มโคลนนิ่ง "คอมแพค ทอร์นาโด" ผลผลิต 6-7 ตัน ต่อไร่

23/2/54
เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 21 ฉบับที่ 461
ปาล์มโคลนนิ่ง "คอมแพค ทอร์นาโด" ผลผลิต 6-7 ตัน ต่อไร่ อาร์ แอนด์ ดีฯ ที่ชุมพร ภูมิใจนำเสนอ...โปรดติดตาม

ระยะเวลา 4-5 ปีมานี้ เมืองไทยพูดถึงพืชพลังงานกันมาก โดยเฉพาะพลังงานที่นำไปเติมให้กับรถ จะไม่ให้พูดได้อย่างไร เพราะมีอยู่ช่วงหนึ่ง น้ำมันดีเซลราคาพุ่งสูงเกือบ 2 ลิตร 100 บาท คนที่อยู่ในกรุงเทพฯ หากที่ทำงานไกลหน่อย รถติด ไป-กลับวันหนึ่งหากใช้น้ำมันสัก 4 ลิตร ก็ไม่ไหวแล้ว เพราะมีรายได้เท่าเดิม นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยเท่านั้น อาชีพอื่นๆ อย่างเรือประมง การขนส่งสินค้า ก็หน้าซีดหน้าเซียวไปตามๆ กัน ระยะหลังราคาน้ำมันดูผ่อนคลายลง แต่จะให้ราคาถูกเหมือน 7-8 ปีที่แล้ว คงเป็นไปได้ยาก

การพูดถึงพืชพลังงานในช่วงราคาน้ำมันแพง ดูคึกคักจริงๆ สังเกตได้จากการสัมมนาตามที่ต่างๆ คนแห่กันไปฟังจนล้นหลาม ต้องต่อโทรทัศน์วงจรปิด ในทางกลับกัน เมื่อราคาน้ำมันลดลง งานสัมมนามีคนไม่มากเท่าที่ควร

ในบ้านเรา มีการหยิบยกพืชพลังงานมาปัดฝุ่นกันหลายชนิด บางชนิดเป็นไม้ที่ใช้ทำรั้วมาก่อน หลังๆ ก็ซาไป แต่ยังพบเห็นตามสถาบันที่สอนทางด้านการเกษตร แต่ผู้ดูแลก็ไม่เอาใจใส่เท่าที่ควร ปล่อยให้หญ้าขึ้นรก คงต้องให้น้ำมันลิตรละ 40 บาท เขาจึงต้องดูแลกันอย่างจริงจังอีกทีหนึ่ง

ปาล์มน้ำมัน เป็นพืชพลังงานที่ได้รับการพูดถึงมากในช่วงที่ผ่านมา จริงๆ แล้วเดิมพืชชนิดนี้ปลูกมานานกว่า 80 ปีแล้ว หลักฐานที่ชัดเจนที่สุด คือที่ฟาร์มบางเบิด หรือสถานีวิจัยสิทธิพรกฤดากร อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หน่วยงานของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อีกที่หนึ่งคือศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี อยู่อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี แต่อายุของต้นจะน้อยกว่าที่บางเบิด

ประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านปาล์มน้ำมันมาก อยู่ใกล้ๆ บ้านเราคือ มาเลเซีย ทุกวันนี้ เขาพัฒนาเพิ่มมูลค่าไปมากแล้ว โดยมีบริษัทเอกชนจากสหราชอาณาจักร เป็นผู้ดำเนินการ

ปาล์มน้ำมัน.......ปลูกได้ผลดีเฉพาะถิ่น
ประเทศไทยมีปลูกปาล์มน้ำมันมากที่ภาคใต้ ต่อมามีเพิ่มเติมที่ภาคตะวันออก และที่แทบไม่น่าเชื่อ มีการนำไปปลูกที่อีสานถิ่นที่แห้งแล้ง ปรากฏว่าได้ผล โดยเฉพาะบริเวณที่มีแหล่งน้ำ

มีคำถามอยู่เสมอว่า ปาล์มน้ำมันกับยางพาราอย่างไหนดีกว่ากัน เป็นคำถามที่เกจิทางด้านการเกษตรตอบยาก เพราะการนำไปใช้ประโยชน์แตกต่างกัน

แต่ก็มีผู้รู้ทางด้านนี้ให้ความเห็น ขอเน้นว่า...เป็นเพียงความเห็น
ผู้รู้บอกว่า ยางพาราปลูกได้ทั่วไป แม้กระทั่งใจกลางทุ่งแล้งอย่างทุ่งกุลาร้องไห้ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด พื้นที่ปลูกยางพาราอำเภอนี้มากกว่า 1,000 ไร่ ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา ลาว เวียดนาม รวมทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็ปลูกยางพารากันมากมาย คนที่เคยไปเที่ยว นั่งรถไป ก่อนงีบหลับเห็นต้นยางพาราเต็มไปหมด ตื่นขึ้นมาก็ยังเห็นต้นยางพาราอยู่ รถวิ่งปกติ ไม่ได้หยุด

เมื่อหันมามองปาล์มน้ำมัน เดิมผลิตเพื่อเป็นอาหาร ต่อมาได้นำมาใช้เป็นพืชพลังงาน อย่าง B5 ใน 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นน้ำมันดีเซลที่ได้จากการสูบขึ้นมาจากใต้ดิน 95 เปอร์เซ็นต์ อีก 5 เปอร์เซ็นต์ เป็นน้ำมันปาล์ม พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันได้ผลดีเป็นเขตร้อนชื้นฝนตกชุก เขตที่ฝนน้อยอย่างอีสาน ปลูกได้แต่ต้องมีแหล่งน้ำ บริเวณที่มีน้ำน้อย ความชื้นไม่ดี เมื่อต้นปาล์มเริ่มมีพัฒนาการของดอก ดอกเพศเมียจะกลายเป็นเพศผู้ ผลผลิตจึงไม่ได้เก็บเกี่ยว ดูตัวอย่างได้ตามเกาะกลางถนนที่กรุงเทพฯ เดิมเขาขุดมาจากชลบุรี จากประจวบคีรีขันธ์ พอมีผลผลิตบ้าง แต่มาเจออากาศร้อน น้ำน้อยที่กรุงเทพฯ ดอกจึงกลายเป็นตัวผู้อย่างที่เห็น

นี่เป็นข้อแตกต่างระหว่างยางพารากับปาล์มน้ำมัน

ในอดีต ได้พันธุ์ปาล์มที่ผลผลิตน้อย
งานปลูกปาล์มน้ำมัน เรื่องของสายพันธุ์มีความสำคัญมาก คือต้องให้ผลผลิตสูง ดังนั้น สายพันธุ์ต้องมีการผสมและคัดเลือกอย่างดีจากองค์กรที่เชื่อถือได้ แรกๆ ที่ปาล์มบูม มีความเชื่อว่า การปลูกปาล์มทำได้ง่ายๆ เหมือนการปลูกมะพร้าว คือผลร่วงหล่นใต้ต้นก็เก็บมาปลูกได้ จริงๆ แล้วไม่เป็นอย่างนั้น

ยุคเริ่มต้นที่มีการปลูกปาล์ม มีผู้ค้าหัวใส ไปเก็บปาล์มน้ำมันใต้ต้นจากประเทศมาเลเซีย มาเพาะจำหน่าย แล้วบอกผู้ซื้อว่า นำมาจากต่างประเทศ ซึ่งก็ต่างประเทศจริงๆ คือมาเลเซีย ผู้ซื้อเมื่อนำไปปลูก ปรากฏว่าให้ผลผลิตน้อย ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน หลังๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ผู้ค้ากล้าปาล์มไปขึ้นทะเบียนเพื่อให้เกษตรกรได้กล้าปาล์มที่มีคุณภาพ

ปาล์มโคลนนิ่ง "คอมแพค ทอร์นาโด"......สุดยอดของปาล์ม ที่ชุมพร
บริษัท อาร์ แอนด์ ดี เกษตรพัฒนา จำกัด เป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงโดดเด่นทางด้านกล้าปาล์มน้ำมันไม่น้อย ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทางบริษัทได้ร่วมวิจัยกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาเขตชุมพร ภายใต้ "โครงการความร่วมมือสหกิจศึกษาทางวิชาการเกษตร"

มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมกิจการของ บริษัท อาร์ แอนด์ ดีฯ บริษัทนี้มีแต่คนหนุ่มๆ ทำงาน เพิ่งจบจากมหาวิทยาลัย ดูคึกคักมาก เหมือนวัวหนุ่มมุ่งมั่นและพร้อมที่จะเทียมเกวียน ที่มีอาวุโสหน่อยก็ คุณเอกชัย รัตนมงคล ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ อาจารย์พิเศษ และที่ปรึกษา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้

ถึงแม้จะอาวุโสกว่าน้องๆ แต่คุณเอกชัยดูแคล่วคล่อง มีอัธยาศัยและไมตรีอันดีเยี่ยม เรื่องนี้ สมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย ทราบดี

การไปเยี่ยมชมกิจการของ บริษัท อาร์ แอนด์ ดีฯ ครั้งใหม่นี้ คุณเอกชัย และ คุณอรุณ ไชยานุล นักวิชาการเกษตร ได้พาไปดูปาล์มโคลนนิ่งนามว่า "คอมแพค ทอร์นาโด" ระหว่างนั่งไปบนรถ ได้ข้อมูลว่า คุณอรุณเป็นคนหนุ่มที่แดนใต้ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตบางพระ จังหวัดชลบุรี‚สถาบันนี้ไม่ธรรมดา

คุณอรุณเล่าว่า ปกติทางบริษัทนำพันธุ์ปาล์มน้ำมันเข้ามาจากประเทศคอสตาริกา ชื่อพันธุ์ "คอมแพค ไนจีเรีย" ผลผลิต 5 ตัน ต่อไร่ มาเผยแพร่ บริษัทที่ผสมและคัดเลือกอยู่ที่คอสตาริกา คือบริษัท ASD ซึ่งเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงก้องโลก เรื่องพันธุ์ปาล์มน้ำมัน

คอมแพค ไนจีเรีย ดีอยู่แล้ว สุดยอดอยู่แล้ว ทำไมต้องมีสิ่งใหม่ๆ เข้ามา
คุณอรุณอธิบายว่า คอมแพค ไนจีเรีย ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด เมื่อปลูกมีความแปรปรวนบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่คอมแพค ทอร์นาโด ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากต้นคอมแพคที่ดีที่สุด การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "โคลนนิ่ง" เจ้าคอมแพค ทอร์นาโด ให้ผลผลิต 6-7 ตัน ต่อไร่ ต่อปี เห็นไหมผลผลิตสูงกว่าคอมแพค ไนจีเรีย ถึง 1-2 ตัน

ขอยกตัวอย่าง หากปาล์มคอมแพค ทอร์นาโด เปรียบเสมือน สมจิตร จงจอหอ วีรบุรุษเหรียญทองโอลิมปิค ที่มีความเก่ง เราอยากได้คอมแพค ทอร์นาโดมากๆ ก็เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อออกมา ก็จะได้ลักษณะให้ผลผลิตดกมากๆ เปรียบกับคน ก็คือ สมจิตร จงจอหอ คนที่ 1, 2, 3 ๆๆๆ

ในทางปฏิบัติ ทางด้านพืช สามารถทำได้ อย่างปาล์มให้ผลผลิต 6-7 ตัน ต่อไร่ ต่อปี เมื่อเพาะเนื้อเยื่อจากต้นที่ได้ 6-7 ตัน ต้นใหม่ก็ให้ผลผลิตตามนั้น

ในวงการสัตว์ โคลนนิ่งได้แล้ว เมืองไทยทำกับวัว....สำหรับคนหรือมนุษย์ ยังไม่มีงานทดลอง หรือฝรั่งจะทดลองแล้วก็ได้

ถามว่า...แล้วทำไมไม่ปลูกคอมแพค ทอร์นาโด ทั้งประเทศ นำผลผลิตมาเติมรถ ไม่ต้องซื้อน้ำมันดีเซลจากต่างประเทศ

คุณอรุณมีคำตอบว่า คอมแพค ทอร์นาโด มีต้นทุนสูง โดยเฉพาะการเพาะเลี้ยง สภาพแวดล้อมต้องดี หมายถึงน้ำและความชื้น ราคาต้นพันธุ์นั้นก็สูงแน่นอน

คุณอรุณบอกว่า การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหรือการโคลนนิ่ง ที่คอสตาริกา เขาใช้ช่อดอกอ่อน ที่มาเลเซียใช้ยอดอ่อนของต้น หมายถึงต้องตัดต้นมาทำ แล้วเสียต้นนั้นไป ถือเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง เมืองไทยเราก็กำลังศึกษาอยู่

แล้วคอมแพค ทอร์นาโด.....ดีอย่างไร
คุณอรุณอธิบายว่า โดยทั่วไป การปลูกปาล์มน้ำมันใช้ระยะระหว่างต้นระหว่างแถว 9 คูณ 9 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ 22 ต้น ผลผลิตเฉลี่ย 3-4 ตัน ต่อไร่ หากใช้พันธุ์ที่ดีหน่อยก็ขยับขึ้นเป็น 5 ตัน ต่อไร่

เจ้าคอมแพค ทอร์นาโด ต้นเตี้ย ทางใบสั้น จำนวนที่ปลูกต่อไร่ได้มาก ผลผลิต 6-7 ตัน ต่อไร่

คอมแพค ทอร์นาโด หลังปลูก 6 เดือน เริ่มแทงช่อดอก ขณะที่ปาล์มทั่วไปใช้เวลา 14 เดือน เมื่ออายุ 18 เดือน ติดผล เมื่ออายุ 2 ปี หลังปลูก เก็บผลผลิตได้เลย

คุณอรุณบอกว่า โดยทั่วไป ปาล์มน้ำมันมีจำนวนต้นต่อไร่ 22 ต้น เมื่อปลูกคอมแพค ทอร์นาโด ปลูกได้ 33 ต้น ต่อไร่ ผลผลิตจึงเพิ่มขึ้น เพราะแต่ละต้นให้ผลผลิตมาก รวมทั้งจำนวนต้นต่อไร่มากขึ้นด้วย ในอนาคต นักวิชาการเกษตรหนุ่มบอกว่า ถึงแม้ประเทศไทยโดยรวม ต้องการเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น แต่การไปบุกรุกที่ขยายพื้นที่ปลูกทำได้ยาก การเพิ่มผลผลิตที่ดีทางหนึ่ง คือเพิ่มจำนวนต้นต่อไร่ให้มากขึ้น โดยใช้พันธุ์ที่ต้นเล็กลง อาจจะใช้ระยะระหว่างแถว 6 คูณ 6.5 เมตร ไร่หนึ่งปลูกได้ 44 ต้น ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยอยู่ รวมทั้งหาต้นพันธุ์ที่โดดเด่นในเมืองไทยเอง

"เหตุที่คอมแพค ทอร์นาโด มีราคาแพง เพาะอยู่ในแล็บ 2 ปี ผู้สนใจปลูกต้องมีปัจจัยพร้อม แต่หากได้ปลูกแล้วคุ้มค่าต่อการลงทุน มีคนสนใจสั่งจอง แต่เรามีตอบสนองให้น้อย" คุณอรุณ บอก

คุณเอกชัย รัตนมงคล ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ บอกว่า บ้านเราตอนนี้ปลูกคอมแพค ทอร์นาโด 300-400 ไร่ เป็นเกษตรกรมืออาชีพ ใช้เทคโนโลยีที่สูง แต่ก็คุ้มค่ากับการลงทุน

คุณเอกชัย และคุณอรุณ ได้พาไปเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาเขตชุมพร ที่อำเภอละแม จัดเป็นสถาบันการศึกษาที่น่าเล่าเรียนมาก ภูมิทัศน์ของแม่โจ้-ชุมพร สวยงามมาก ด้านหน้าติดทะเลที่มีหาดทรายขาว น้ำใส

อาจารย์จิระศักดิ์ วิชาสวัสดิ์ สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช มหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาเขตชุมพร เล่าถึงการทำงานว่า ทางแม่โจ้-ชุมพร ได้ร่วมกับ บริษัท อาร์ แอนด์ ดี จำกัด ศึกษาเรื่องปาล์มน้ำมัน หลายๆ ด้าน

สำหรับการขยายพันธุ์ โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ หรือการทำโคลนนิ่งก็ทำกันอยู่ เป็นการศึกษาเบื้องต้น ต้องใช้เวลา ขณะนี้เริ่มเห็นแนวทางพอสมควร

ผู้สนใจเรื่องปาล์มน้ำมัน ต้องสำรวจตัวเองให้ดี เรื่องความพร้อมทางด้านต่างๆ ก่อนที่จะตัดสินใจ

หากมีข้อสงสัยก็สอบถามได้ที่ คุณอรุณ ไชยานุล โทร. (086) 293-6977 คุณเอกชัย รัตนมงคล โทร. (085) 762-6897 หรือที่ศูนย์ฯ สวี (085) 214-8668 ศูนย์ฯ ละแม (087) 935-0001

คุณสมชาติ สิงหพล ผู้จัดการฝ่ายผลิต บริษัท อาร์ แอนด์ ดีฯ บอกว่า เนื่องจากปาล์มเป็นพืชที่อยู่ในกระแสความสนใจของเกษตรกรและบุคคลทั่วไป เป็นพืชที่มีผลต่อเศรษฐกิจของชาติ ทางบริษัทยินดีให้คำปรึกษา เพื่อให้มีความเข้าใจโดยกระจ่างแจ้ง ดังนั้น ใครสนใจโทร.ปรึกษาได้ ไม่จำเป็นต้องซื้อผลิตผลก็ได้

7 ความคิดเห็น:

  1. อยากทราบราคาต้นพันธ์ คอมแพค ทอร์นาโด ครับส

    ตอบลบ
  2. อยากทราบว่าพันธ์ุ คอมแพค ทอร์นาโด ปลูกในพื้นที่นาให้ผลผลิตดีมีความเหมาะสมหรือเปล่า ครับ
    ปัจจุบันต้นพันธู์เพาะเนื้อเยื่อราคาต้นละเท่าไร

    ตอบลบ
  3. อยสกทราบว่าสั่งซื้อต้นพันธุ์ คอมแพค ทอร์นาโดได้ที่ไหน และราคาต้นละเท่าไหร่คะ

    ตอบลบ
  4. อยากทราบว่าสั่งซื้อต้นพันธุ์ คอมแพค ทอร์นาโดได้ที่ไหน และราคาต้นละเท่าไหร่คะ

    ตอบลบ
  5. อยากทราบราคาต้นละเท่าไหร่

    ตอบลบ
  6. อยากทราบต้นพันธุ์ ราคาเท่าไหร่ มีปาล์มเก่าสูงมากแล้วอย่าปลุกพันธุ์ใหม่ จองได้ที่ไหน

    ตอบลบ
  7. สั่งซื้อได้ที่ไหนครับ

    ตอบลบ