ปาล์มน้ำมันในมาเลเซีย 1/2

2/10/55
โดยคมชัดลึก เมื่อ 30 ก.ค. 2555

ปาล์มน้ำมันในมาเลเซีย : คอลัมน์ เกษตรยุคใหม่ : โดย ... รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมห้องแล็บเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อปาล์มน้ำมันที่บริษัทใหญ่แห่งหนึ่งในมาเลเซีย ซึ่งทำธุรกิจเพาะกล้าปาล์มจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากต้นปาล์มลูกผสมพันธุ์ดีที่คัดมาแล้ว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้ปาล์มน้ำมันของมาเลเซียมีความก้าวหน้ากว่าเมืองไทยมาก ทั้งในเรื่องของผลผลิตและปริมาณน้ำมันในผลปาล์ม

ปัจจุบันบริษัทนี้ผลิตต้นพันธุ์ปาล์มน้ำมันด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อปีละประมาณ 6 หมื่นต้นเพื่อขายในประเทศ ปัจจุบันสวนปาล์มในมาเลเซียประมาณ 7 หมื่นไร่ ปลูกปาล์มพันธุ์นี้อยู่

เหตุผลที่ต้นปาล์มจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเหนือกว่าต้นกล้าทั่วไปก็คือความสม่ำเสมอของต้น ทั้งการเติบโตและผลผลิต เพราะว่าการคัดเลือกต้นพันธุ์ที่จะนำมาขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนั้นต้องมีหลักเกณฑ์ ซึ่งโดยทั่วไปก็คือการคัดเลือกต้นที่ให้ผลผลิตสูง ผลมีขนาดใหญ่ การสุกของผลในทะลมีความสม่ำเสมอ และเรื่องที่สำคัญคือมีเนื้อหนาและเมล็ดเล็ก

ทั้งหมดนี้เป็นผลโดยรวมให้ปริมาณน้ำมันในผลสูงมากกว่า 26% ถ้ามองเป็นรายต้นอาจดูไม่มากเท่าใดนัก แต่ถ้าปลูกกันเป็นไร่ ผลผลิตและปริมาณน้ำมันที่ต่างกันเพียงเล็กน้อยก็จะยิ่งเห็นความแตกต่างชัดเจนขึ้น

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อก็เป็นวิธีการขยายพันธุ์แบบหนึ่ง เหมือนกับการปักชำ หรือการตอนกิ่ง นั่นก็คือเป็นการขยายพันธุ์โดยไม่ใช้เพศ ต้นที่ได้จึงควรเหมือนต้นแม่ทุกประการ ซึ่งวิธีการนี้เรียกว่า "โคลนนิ่ง" แต่ว่าการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออาจต่างจากการขยายพันธุ์แบบตอนกิ่งหรือปักชำตรงที่ว่า อาจมีการกลายพันธุ์เกิดขึ้นได้บ้าง เพราะว่าชิ้นส่วนเนื้อเยื่อที่นำมาขยายพันธุ์มีขนาดเล็กมากและต้องมีการแบ่งเซลล์หลายต่อหลายครั้งเพื่อการเติบโต จึงมีโอกาสผิดเพี้ยนได้มากกว่า

สำหรับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อปาล์มน้ำมันนั้น อาจเป็นวิธีการเดียวของการขยายพันธุ์โดยไม่ใช้เพศ เพราะว่าปาล์มน้ำมันเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวและไม่มีการแตกหน่อ จึงไม่สามารถตอนกิ่งหรือปักชำได้ ความยากจึงอยู่ตรงนี้ และต้องมีการศึกษาวิจัยอย่างมากกว่าที่จะประสบความสำเร็จ เนื่องจากต้นปาล์มแต่ละต้นมีการตอบสนองต่อการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อไม่เหมือนกัน

บางครั้งอาจพบปัญหาว่าเพาะเลี้ยงมาเกือบ 2 ปีแล้ว แต่ไม่สามารถชักนำให้เกิดต้นและรากได้ หมายความว่าเกิดการเสียเปล่า ดังนั้นการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจึงมีความเสี่ยงสูงที่จะไม่สำเร็จได้เช่นกัน

ปาล์มน้ำมันเป็นพืชยืนต้น เติบโตและให้ผลผลิตต่อเนื่องได้มากกว่า 25 ปี ดังนั้นถ้าลงทุนปลูกไปแล้วโดยใช้พันธุ์ไม่ดี ก็ต้องทนอยู่กับต้นนั้นไปนาน ได้ผลผลิตต่ำ น้ำมันน้อย ไม่คุ้มค่าการลงทุน เกษตรกรผู้ปลูกจึงพยายามขวนขวายหาพันธุ์ปาล์มที่ดีมาปลูก โดยการสั่งเมล็ดเข้ามาจากแหล่งปลูกต่างๆ ที่มีชื่อเสียง เช่นคอสตาริกา แต่ส่วนใหญ่แล้วพันธุ์ที่ได้มามักจะเป็นของเหลือทิ้งจากประเทศเหล่านั้น เพราะว่าคงไม่มีใครส่งของดีเข้ามาให้เรา

ผลก็คือปาล์มน้ำมันของเราไม่มีทางสู้คนอื่นได้เลย สิ่งที่จะทำให้ไทยเรามีความก้าวหน้าทันโลกได้ก็คือ ต้องมีการพัฒนาพันธุ์ปาล์มที่เหมาะสมสำหรับเมืองไทยขึ้นมาใช้เอง และแน่นอนว่าต้องใช้ทั้งเงินและเวลา รวมทั้งนักวิจัยที่ทุ่มเทในเรื่องนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพราะว่าปาล์มน้ำมันเป็นพืชยืนต้น ต้องใช้เวลาหลายปีในการปรับปรุงพันธุ์ ไม่เหมือนพืชล้มลุกทั้งหลายที่ใช้เวลาสั้นกว่า

คราวหน้าจะมาเล่าให้ฟังว่าการปลูกปาล์มของมาเลเซียมีมากน้อยเพียงใด และมีความก้าวหน้ามากกว่าเราขนาดไหนครับ!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น