6 ปี พลิกสวนส้มร้างที่หนองเสือบทพิสูจน์ทุ่งรังสิตเหมาะปลูกปาล์ม

19/2/54
โดยคมชัดลึก เมื่อ ต.ค.2553

ย้อนไปเมื่อปี 2547 หลังจากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้กรมพัฒนาที่ดิน ดำเนินการหาทางพัฒนา

สวนส้มร้างนับแสนไร่ที่ทุ่งรังสิต และอ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี 

ในที่สุดกรมพัฒนาที่ดิน ก็ได้วางรูปแบบ (Model) การพัฒนาสวนส้มร้างรังสิตสร้างไว้ 2 รูปแบบคือ 

- พัฒนาที่ดินเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน และ 
- การทำการเกษตรผสมผสานตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง 

ซึ่งปรากฏว่า การปลูกปาล์มภายใต้โครงการทดสอบการปลูกปาล์มน้ำมัน ที่นำร่องในสวนส้มร้างของ 

นายจรัล พุดซ้อน ที่หมู่ 2 ต.ศาลาครุ อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี (คลองสิบสี่) 

และต่อมาได้ทดลองปลูกในแปลงเกษตรรายอื่นในพื้นที่ราว 200 ไร่ มีเกษตรกรร่วมโครงการ 20 คน ตั้งแต่ปี 2547 เน้น

ปาล์มน้ำมันสายพันธุ์สุราษฎร์ธานี-2

เวลาผ่านไป 6 ปีแล้วปรากฏว่า ปาล์มน้ำมันที่ปลูกในสวนส้มร้างที่ อ.หนองเสือให้ผลผลิตแล้วอยู่ที่

ไร่ 4.5-4.8 ตัน/ปี 

ถือว่าให้ผลผลิตค่อนข้างดี และมีอัตราเปอร์เซ็นต์น้ำมันในผลปาล์ม 21-23% ลำต้นปาล์มอายุ 5 ปี มีขนาด 2 คนล้อมโอบ ที่พิเศษอีกอย่าง

สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดทุก 20 วัน

ถือว่าดีกว่าในพื้นที่ของภาคใต้และภาคตะวันออกที่มี

ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ไร่ละ 2.8 ตันต่อปี มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันเพียง 16-17% เท่านั้น 

และจากความสำเร็จในแปลงทดสอบการปลูกปาล์มน้ำมันดังกล่าวทำให้ จ.ปทุมธานีร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปทุมธานี ได้ต่อยอดดำเนินโครงการนำร่องปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อผลิตพลังงานทดแทน และได้เริ่มแล้วเมื่อ 8 เดือนก่อน

นางจำรูญ จันทร์นวล นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักเกษตรจังหวัดปทุมธานี ซึ่งรับผิดชอบโครงการส่งเสริมการปลูกปาล์มในสวนส้มร้างใน จ.ปทุมธานี กล่าวว่า ผลจากการติดตามโครงทดสอบการปลูกปาล์มน้ำมันที่ อ.หนองเสือนั้น พบว่า ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก เกษตรกรที่ร่วมโครงการตั้งแต่แรก ต้นปาล์มน้ำมันออกผลผลิตที่สูงมากเฉลี่ยตกไร่ละ 4.4 ตันต่อปี ถือว่ามากกว่าภาคใต้และภาคตะวันออก เนื่องจากพื้นที่ทุ่งรังสิต และอ.หนองเสือนั้นมีระบบน้ำที่สมบูรณ์นั่นเอง

"ปาล์มเป็นพืชที่ต้องการน้ำสูง ที่หนองเสือมีระบบชลประทานที่ดี ที่สำคัญไร่ส้มนั้นเกษตรกรทำร่อง ข้างๆ มีน้ำตลอดเวลา ที่สำคัญคนที่เคยปลูกส้มมาแล้ว ถือว่าสุดยอดแล้ว เพราะสวนส้มต้องดูแลเป็นอย่างดี เมื่อเกษตรกรปลูกปาล์มน้ำมันถือว่าง่ายมากสำหรับคนเคยทำสวนส้มมาก่อน ตรงนี้ที่ทำให้ต้นปาล์มงอกงาม ให้ผลผลิตดี เปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง เกษตรกรปลูกได้เพียง 2.8 เดือนสามารถเก็บเกี่ยวได้แล้ว เดิมที 20 วันเก็บเกี่ยวครั้งหนึ่ง ตอนนี้ 15 วันเก็บเกี่ยวผลผลิต 1 ครั้ง โดยมีบริษัทจาก จ.ชลบุรี เป็นผู้รับซื้อ ปัจจุบันราคากิโลกรัมละ 5 บาท" นางจำรูญ กล่าว

ส่วนการดำเนินโครงการนำร่องปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อผลิตพลังงานนั้น นางจำรูญ บอกว่า ใช้พื้นที่ 3,000 ไร่ มีเกษตรกรร่วมโครงการราว 300 คน โดยสำนักเกษตรจังหวัดปทุมธานีจะเป็นพี่เลี้ยงคอยแนะนำให้ความรู้ จัดฝึกอบรม สัมมนา รวมถึงหาตลาดให้ด้วย อย่างปัจจุบันมีบริษัท สุขสมบูรณ์ จำกัด จาก จ.ชลบุรี เป็นผู้รับซื้อจากเกษตรกร นอกจากนี้แล้ว อบจ.ปทุมธานี พาไปดูงานในพื้นที่ภาคอื่นด้วย

"จริงๆ ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี เกษตรกรชาวสวนส้มเก่าหันมาปลูกปาล์มจำนวนมากกว่าที่เราส่งเสริมอีก ตอนนี้ประมาณการว่ามีการปลูกปาล์มน้ำมันเองที่ทุ่งรังสิต และที่ อ.หนองเสือ ไปแล้วประมาณ 7,000 ไร่ อีก 3 ปีข้างหน้าอาจถึง 1 หมื่นไร่ ถึงเวลานั้นจะมีเงินสะพัดเข้าจ.ปทุมธานีมหาศาล จังหวัดและอบจ.กำลังมีแผนว่า ต่อไปอาจมีโรงสกัดน้ำมันปาล์ม และโรงกลั่นผลิตไบโอดีเซลชุมชนขึ้นมาเพื่อบริการในชุมชนกันเอง" นางจำรูญกล่าว

ด้าน นายอักษร น้อยสว่าง ประธานชมรมผู้ปลูกปาล์มน้ำมันทุ่งรังสิต อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี บอกว่า เดิมทีเกษตรกรในอ.หนองเสือและในทุ่งรังสิตประกอบอาชีพการทำสวนส้ม แต่เนื่องจากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเกิดปัญหาการระบาดของโรคกรีนนิ่ง (greening) ขั้นรุนแรง ทำให้เกษตรกรบางส่วนจำเป็นต้องอพยพไปปลูกส้มในพื้นที่อื่น ขณะที่เกษตรกรอีกส่วนหนึ่งยังอยู่ในพื้นที่ปลูกพืชอย่างอื่น จนกระทั่งเมื่อปี 2547 กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำ "โครงการส่งเสริมการปลูกไม้ยืนต้นเศรษฐกิจในพื้นที่สวนส้มร้างปรับปรุงพื้นที่ดินเปรี้ยว เพื่อปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ทุ่งรังสิต” จึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ เริ่มแรกจาก 20 ไร่ และขยายจนวันนี้ 37 ไร่

"การปลูกปาล์มของผมยังคงลักษณะเป็นร่องสวนแบบสวนส้ม แต่มีการปรับแต่งสภาพดินและร่องสวนให้เหมาะสมกับต้นปาล์มน้ำมันที่ระยะปลูก 9x9 เมตร โดยใช้พันธุ์ปาล์มลูกผสมเทเนร่า และในช่วง 1-2 ปีแรกที่ปลูกได้ทำแปลงผัก ข้าวโพด และถั่วแซมระหว่างแถวปาล์มเพื่อเป็นรายได้เสริมด้วย ปัจจุบันต้นปาล์มที่ปลูกไว้อายุ 5 ปีให้ผลผลิตแล้วเฉลี่ย 6.7 ตัน/ไร่ และแปลงของเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงก็ให้ผลผลิตเฉลี่ย 4.4 ตัน/ไร่เช่นกัน" นายอักษร กล่าว

การเนินโครงการนำร่องปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อผลิตพลังงานของจ.ปทุมธานีและอบจ.ปทุมธานี ดูเหมือนว่าจะสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงพลังงาน ซึ่งก่อนหน้านี้ ดร.พรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการบรรยายพิเศษ “จะจัดการกับอุปทานของพลังงานอย่างไร” ณ อาคารปฏิบัติการคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการใช้น้ำมัน 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ประเทศไทยสามารถผลิตได้เองเพียงแค่ 15-20% เท่านั้น

ดังนั้น กระทรวงพลังงานจึงมีแผนพัฒนาพลังงานทดแทนภายใน 15 ปี (พ.ศ.2551-2565) เพื่อทดแทนให้ได้ 20% คิดเป็นมูลค่า 3 แสนล้านบาทต่อปี โดยจะมีการพัฒนาพลังงานทดแทนหลากหลายรูปแบบที่สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรม และภาคส่วนต่างๆ อาทิ เอทานอล ไบโอดีเซลและพลังงานทดแทนอื่นๆ จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขยายพื้นที่ปลูกปาล์ม 2.5 ล้านไร่ภายใน 5 ปี เพื่อรองรับแผนพัฒนาพลังงานทดแทน ซึ่งในปี 2553 กระทรวงพลังงานตั้งเป้าความต้องการใช้น้ำมันปาล์มวันละ 2.5 ล้านลิตร และคาดว่า 4-5 ปี จะขยับไปอยู่ที่ 4 ล้านลิตรต่อวัน อย่างไรก็ตาม หากอนาคตหากจะผลักดันให้ผลิตไบโอดีเซลเป็น บี 10 จะต้องการใช้นำมันปาล์มจากปาล์มน้ำมันถึงวันละ 8.5 ล้านลิตร

เป็นบทพิสูจน์เป็นอย่างดีว่า ปัจจุบันในพื้นที่ภาคกลางอีกหลายจังหวัด ที่ระบบที่สมบูรณ์สามารถปลูกปาล์มน้ำมันได้ และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเกษตรกรที่เคยขาดทุน อาจลองหันมาปลูกปาล์มน้ำนันโดยเอาพื้นที่ทุ่งรังสิต-อ.หนองเสือเป็นกรณีศึกษา

ปลูกเกิน 1,000 ไร่ ควรมีโรงสกัดในชุมชน

นายมนตรี คงตระกูลเทียน ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า การส่งเสริมการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันของรัฐบาลนั้น เน้นพื้นที่ปลูก แต่ไม่มีโรงสกัดน้ำมันปาล์มมารองรับจะทำให้เกษตรกรต้องประสบปัญหาเรื่องต้นทุนการขนส่งสูง ควรมีโรงสกัดน้ำมันระดับชุมชนขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกของเกษตรกรในการมีนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาปาล์มน้ำมันเป็นไบโอดีเซลอย่างยั่งยืน

"ตอนนี้บริษัท เกรทอะโกร จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทด้านงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านจักรกลการเกษตรในสังกัดของกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร ได้ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือเอ็มเทค ได้พัฒนาโรงสกัดน้ำมันปาล์มแบบไม่ใช้ไอน้ำขนาด 1.5 ต้นทะลายปาล์มต่อชั่วโมง เพื่อป็นทางเลือกของเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันแหล่งใหม่ ได้มีโรงสกัดน้ำมันปาล์มระดับชุมชนในพื้นที่ ช่วยให้เกษตรกรไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งผลผลิตระยะทางไกลๆ ตอนนี้โรงงานต้นแบบอยู่ อ.วิหารแดง จ.สระบุรี เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสาธิตการผลิตไบโอดีเซลสำหรับชุมชนแบบครบวงจรของเอ็มเทค และอยู่ใกล้กับพื้นที่ปาล์มน้ำมันทุ่งรังสิตด้วย" นายมนตรี กล่าว

สำหรับโรงสกัดน้ำมันปาล์มแบบไม่ใช้ไอน้ำระดับชุมชนที่ว่านี้ นายมนตรี บอกว่า สามารถรองรับพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันแห่งใหม่ที่มีขนาดพื้นที่ประมาณ 1,000-3,000 ไร่ โดยน้ำมันที่สกัดได้เป็นน้ำมันเกรดเอ ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำเสีย ผลพลอยได้จากการสกัดสามารถนำไปทำเป็นอาหารสัตว์ได้ และที่สำคัญสามารถบริหารจัดการง่าย ควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติ จึงเป็นนวัตกรรมที่เหมาะกับกลุ่มเกษตรกรจะลงทุน โดยการติดตั้งโรงสกัดน้ำมันปาล์มไม่ใช้ไอน้ำฯ 1 เครื่อง ต้องลงทั้งสิ้น 8 ล้านบาท คาดว่าเกษตรกรจะสามารถคืนทุนได้ใน 3 ปี ปัจจุบันได้รับความสนใจจากกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มและมีการจองแล้วทั้งสิ้น 8 โรง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น