27 มกราคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4283 ประชาชาติธุรกิจ
ที่ดินสวนยางวิ่งกระฉูด คนใต้แห่ซื้อเหนือ-อีสานขึ้นเท่าตัว
กลุ่มทุนตีปีกรับยางราคาพุ่ง ค่ายเสี่ยเจริญ-ซีพี-ศรีตรัง-ไทยฮั้ว ได้แต้มต่อลุยบุกเบิกล่วงหน้า นักธุรกิจ-นักการเมืองแห่ถอดสูทหันลงทุนปลูกยางรับกระแส ซื้อ-ขายเปลี่ยนมือที่ดินคึกคักทั้งภาคเหนือ-อีสาน บางจุดราคาพุ่ง 4-5 เท่าตัว หลังทุนต่างถิ่นจากส่วนกลาง-ภาคใต้เข้าไปกว้านซื้อ เผยอินเทรนด์ สุด ๆ ประกาศซื้อ-ขายผ่านสื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดีย
สถานการณ์ตลาดยางพาราที่ราคาซื้อขายยังมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง นอกจากจะปลุกกระแสให้เกษตรกรทุกภูมิภาคทั่วประเทศให้หันมาปลูกพืชเกษตรชนิดนี้กันขนานใหญ่แล้ว ยังดึงดูดใจกลุ่มทุนขนาดใหญ่ กลุ่มนักธุรกิจ นักลงทุน และนัก การเมืองจำนวนมากอีกด้วย
รูปธรรมที่เห็นชัดเจนคือความเคลื่อนไหวซื้อขายที่ดินสำหรับปลูกสร้างสวนยางกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน โดยกลุ่ม ธุรกิจ กลุ่มทุนทั้งจากส่วนกลาง นักธุรกิจ นักลงทุนในพื้นที่ และเจ้าของสวนยางรายใหญ่ในภาคใต้ที่ต้องการขยายหรือย้ายลงทุนปลูกสร้างสวนยางในภาคเหนือและอีสานแทน เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานกรีดยาง และที่ดินในภาคใต้มีราคาแพง
ส่งผลให้การซื้อขายเปลี่ยนมือที่ดินในพื้นที่หลายจังหวัดทางภาคเหนือและอีสานคึกคักขึ้นอย่างมาก เช่นเดียวกับราคาซื้อขายที่พุ่งสูงขึ้นจากเดิมหลาย เท่าตัว ที่น่าสนใจคือมีการประกาศซื้อขายที่ดิน หรือที่ดินพร้อมสวนยางพาราผ่านสื่อยอดฮิตคือสื่อออนไลน์กันแพร่หลายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนกับพืชเกษตรชนิดอื่นอีกด้วย
ทุนธุรกิจ-การเมืองแห่ขุดทอง
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า ในส่วนของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ และนักธุรกิจ นักลงทุนนั้น กระแสความสนใจยางพาราเกิดขึ้นหลายปีมาแล้ว โดยเฉพาะ 2-3 ปีที่ผ่านมาบูมมากขึ้นตามแนวโน้มราคายางในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่าง
บริษัท เทอราโกร จำกัด ในเครือกลุ่มบริษัทพรรณธิอร กลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี
เริ่มบุกเบิกปลูกยางพาราตั้งแต่ปี 2547 ช่วงที่รัฐบาลในยุคนั้นจัดทำโครงการส่งเสริมการปลูกยางล้านไร่
ปัจจุบันกลุ่มนี้มีพื้นที่ปลูกยางรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 6-7 หมื่นไร่ ในพื้นที่หลายจังหวัด อาทิ
กาญจนบุรี, นครสวรรค์, หนองคาย, พะเยา, เชียงราย, อุดรธานี, เพชรบูรณ์, อ.ด่านซ้าย จ.เลย, อ.ปลวกแดง จ.ระยอง, ชลบุรี และปราจีนบุรี
จากเป้าหมายทั้งหมดที่ตั้งไว้ 100,000 ไร่ ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกยางพร้อมรับซื้อผลผลิต ในรูปคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งด้วย เนื่องจากตามแผนจะลงทุนอุตสาหกรรมยางพาราครบวงจร ทั้งผลิตน้ำยางข้น ยางแท่ง ยางแผ่น รมควัน และโรงงานแปรรูปยาง ขณะที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ก็เดินหน้าธุรกิจยางพาราเพื่อการส่งออกโดยร่วมทุนจีนและญี่ปุ่น นอกจากมี
บริษัท ศรีตรัง แอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน)
บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) ฯลฯ
ส่วนนักการเมืองที่หันมาลงทุนปลูกยาง อาทิ
นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคเสรีธรรม
นายศุภชัย โพธิ์สุ รมช.เกษตรและสหกรณ์
นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้ง
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่มีสวนยางพาราใน จ.สุราษฎร์ธานี เป็นธุรกิจของครอบครัว ฯลฯ
"เหนือ-อีสาน" บูมทุกจังหวัด
นายสุรพล ชูจันทร์ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยางพารากลายเป็นพืชยอดฮิตสำหรับจังหวัดเพชรบูรณ์ไปแล้ว เพราะหลังมีเกษตรกรรุ่นบุกเบิกนำมาปลูกเมื่อหลายปีก่อนและได้ผลดี ก็มีเกษตรกรที่เคยปลูกพืชอื่นและผู้ที่ประกอบอาชีพอื่นหันมาปลูกสร้างสวนยางกันมากขึ้น เห็นได้จากการทำสวนยางขยายไปทุกอำเภอตั้งแต่ อ.เมือง อ.หล่มสัก อ.หล่มเก่า อ.หนองไผ่ ฯลฯ เนื่องจากสภาพพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ มีลักษณะเป็นที่สูงและภูเขาเหมาะสมในการทำสวนยาง ทำให้ขณะนี้การซื้อขายเปลี่ยนมือที่ดินที่มีเอกสารสิทธิมีเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ราคาที่ดินก็ปรับสูงขึ้นด้วย คิดว่าจังหวัดอื่น ๆ ในภาคเหนือและอีสานก็น่าจะมีกระแสตื่นตัวเรื่องการปลูกยาง ไม่แตกต่างกัน
สอดคล้องกับข้อมูลที่นายวุฒิสิทธิ์ จันทสูตร เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงราย ระบุว่าซื้อขายเปลี่ยนมือที่ดินใน จ.เชียงราย มีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน จากการเข้ามากว้านซื้อที่ดินเพื่อใช้ปลูกยางพาราของนักธุรกิจนักลงทุนจากภาคใต้ และจังหวัดอื่น ๆ ในจำนวนนี้มีทั้งที่ซื้อ
ที่ดินขนาด 100-200 ไร่ และรายใหญ่ที่ซื้อที่ดินนับพันไร่
สำหรับพื้นที่ที่ปลูกยางกันมากมี
อ.เชียงของ
อ.เทิง
อ.แม่จัน เป็นต้น
โดยส่วนใหญ่เน้นซื้อที่ดินมีเอกสารสิทธิ เพื่อเลี่ยงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
บุรีรัมย์ที่ดินพุ่ง 5 เท่าตัว
นายรุธร ณ พัทลุง ผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง จ.บุรีรัมย์ เปิดเผยว่า จ.บุรีรัมย์ มีพื้นที่ปลูกยางพารา 178,331 ไร่ มีเนื้อที่เปิดกรีดเป็นอันดับสองรองจาก จ.หนองคาย ตอนนี้คนตื่นตัวหันมาปลูกยางเยอะมากจนไม่มีที่ดินจะปลูกแล้ว และที่ดินราคาแพงขึ้นมาก ปี 2554 นี้คาดว่าจะมีพื้นที่สวนยางปลูกใหม่เพิ่มขึ้นอีก 20%
เจ้าของสวนยางใน อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ เปิดเผยว่า กระแสการปลูกยางบูมทำให้ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาราคาปรับขึ้นหลายเท่าตัว ปัจจุบันราคาที่ดินเปล่าที่ปลูกยางได้เริ่มต้นที่
ไร่ละ 50,000 บาทขึ้นไป จากเดิม 10,000 หมื่นบาท
ส่วนที่ดินที่มีการปลูกยางอายุประมาณ 2 ปี ไร่ละ 80,000-100,000 บาทขึ้นไป
ขายสวนเก่า หาซื้อที่ปลูกใหม่
สำหรับสวนยางที่มีอายุ 6 ปีหรือเป็นยางที่สมบูรณ์ (ยางตายน้อย) และพร้อมเปิดกรีดราคาขยับขึ้นไปที่ไร่ละ 150,000 บาทขึ้นไป หากเป็นที่ดินที่สามารถปลูกบ้านและทำสวนยางได้ด้วยราคาสูงถึงไร่ละ 1 ล้านบาท
"หลังจากยางราคาดีก็มีการซื้อขายเปลี่ยนมือที่ดินกันมาก บางรายใช้วิธีเงินต่อเงิน ขายสวนยางที่บุรีรัมย์ได้หลายล้านบาทแล้วย้ายถิ่นไปหาซื้อที่ดินใหม่ในจังหวัดที่เริ่มปลูกยาง เช่น นครพนม มุกดาหาร เพราะราคาที่ดินถูกกว่า และตอนนี้ชาวภาคใต้อพยพกันมาเป็นครอบครัวและถือเงินสดขึ้นมาซื้อที่ดิน หรือมาลงทุนทำกล้ายางขายในภาคอีสานกันเป็นจำนวนมาก"
ใต้ไร่ละ 4 แสนหาซื้อไม่ได้
นายเพิก เลิศวางพงศ์ ประธานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสยท.) เปิดเผยว่า ในส่วนของภาคใต้ราคาซื้อขายสวนยางพาราในภาคใต้ขยับขึ้นต่อเนื่อง เช่น จากปี 2552 ราคา 80,000-100,000 บาท/ไร่ ขณะนี้เริ่มต้นที่ 200,000 บาท/ไร่แล้ว และการขึ้นไปซื้อที่ดินราคาถูกในภาคอีสานและภาคเหนือเพื่อปลูกยางนั้น ตอนนี้ไม่มีที่ดินราคาถูกแล้ว
ขณะที่นายสนิท ภิวัฒนกุล เจ้าของสวนยางพาราใน อ.ตะโหมด จ.พัทลุง กล่าวว่า ปี 2553 ที่ผ่านมา ราคาซื้อขายสวนยางพาราอยู่ที่ 220,000 บาท/ไร่ แต่ปี 2554 น่าจะขยับมาขึ้นไปที่ 300,000-400,000 บาท/ไร่ อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านก็ไม่ค่อยมีใครอยากขาย เพราะเมื่อขายไปแล้วไม่สามารถจะหาซื้อได้อีก
ด้านนายสุนันท์ นวลพรหมสกุล เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน 7 สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง จ.สงขลา เขต 1 กล่าวว่า จากการรวบรวมศึกษาวิเคราะห์ราคาสวนยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ขณะนี้พบว่าราคาสวนยางก่อนกรีด 1 ปี โดยเฉลี่ยในทำเลติดถนน หรือที่สามารถกรีดยางได้แล้วราคาขายอย่างต่ำอยู่ที่ไร่ละ 250,000 บาท ถ้าไม่ติดถนนไร่ละ 200,000 บาท
"ซื้อ-ขาย" ผ่าน "ออนไลน์"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่ปัจจุบันการปลูกยางพาราได้รับความนิยมจากทั้งกลุ่มธุรกิจ กลุ่มทุน นักการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางที่มีการศึกษาในระดับ ที่สูง และเป็นกลุ่มที่คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และสื่อใหม่ ๆ ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว คนกลุ่มนี้จึงเลือกใช้วิธีติดต่อสื่อสารในการประกาศซื้อขาย หรือติดตามข้อมูลข่าวสาร และสถานการณ์เกี่ยวกับยางพาราโดยผ่านทางสื่ออินเทอร์เน็ต เนื่องจากสะดวกสบาย รวดเร็ว ประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่าย และสามารถสื่อถึงกันได้ในวงกว้าง
ส่งผลให้เวลานี้ข่าวสารความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับพืชชนิดนี้มีแพร่หลายและหาทั่วไปทางเว็บไซต์นับร้อยเว็บไซต์ กระจายอยู่หลายพื้นที่ทั้งในส่วนกลางและหลายจังหวัดในภูมิภาค อาทิ www. sanook.com, www.pantip.com, www.plazathai.com, www.market. mthai.com, www.yangpara.com, www.teedindd.com, www.thaionlinemarket.com, Yasothon Home land4sale.com ไม่เว้นแม่แต่โซเชียล มีเดียอย่าง Twitter และ Facebook
อาทิ
- ขายที่ดินโฉนด 105 ไร่ ในพื้นที่
อ.พิบูลฯ กับ
อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ติดลำแก่งใหญ่เป็นต้นน้ำมาจากภูเขาตลอดทั้งปี เหมาะสำหรับปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน และพืชทุกชนิด ราคา 99,000 บาท/ไร่,
- ขายที่ดิน 200 ไร่ ปลูกยางพารากว่า 3,000 ต้น ราคาคุยกันได้,
- ขายที่ดินเหนือเขื่อนลำปะทาว อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ 300 ไร่ มีน้ำตก น้ำซับไหลผ่าน ปลูกยางแล้ว 150 ไร่ อายุยาง 1 ปี 2 ปี และ 3 ปี,
- ขายที่ดินสำหรับปลูกยางพารา อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ 1,000 ไร่ ไร่ละ 10,000 บาท เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น