ยางพารา-ทองคำสีขาว

17/2/54
โดยไทยรัฐ 16 ก.พ.2554

ผมเพิ่งกลับจาก นครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจการค้าภาคใต้ ไปร่วมงาน มหกรรมการเงิน Money Expo หาดใหญ่ ครั้งที่ 1 ของวารสาร การเงินธนาคาร ไปเห็นแล้วก็ตื่นตาตื่นใจ นครหาดใหญ่คึกคักมาก ทั้งผู้คนจากกรุงเทพฯ จังหวัดใกล้เคียง นักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย สิงคโปร์ โรงแรมเต็มทุกแห่ง ร้านอาหาร ร้านเหล้า คาราโอเกะ เปิดใหม่กันมากมาย

เศรษฐกิจภาคใต้กำลังโชติช่วงชัชวาล ผลจากราคายางที่สูงขึ้นไม่หยุด จากเดิมกิโลละ 40 บาท ราคายางแผ่นที่สงขลาวันวาเลนไทน์ซื้อขายกันกิโลละ 180.79 บาท แต่ราคาปิดเดือนมิถุนายนใน ตลาดซื้อขายยางล่วงหน้า อยู่ที่ กิโลละ 195 บาท แสดงว่าราคายางจะแพงขึ้นไปอีก

ชาวสวนยางปักษ์ใต้วันนี้ต้องบอกว่า รวยเละ รวยจน คุณชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ไปเป็นประธานเปิดงานเล่าว่า ธนาคารนับเงินฝากไม่ทัน คุณชวนเล่าว่า มีครูคนหนึ่งที่จังหวัดตรัง มีสวนยางประมาณ 10 ไร่ กลางวันไปสอนหนังสือ ตอนเย็นกลับบ้านไปกรีดยาง และเก็บน้ำยางในตอนเช้า ได้เงินสดๆ วันละ 1,800 บาท

ยาง 1 ไร่ ได้น้ำยางวันละ 3 - 4 กิโล 

ผมคิดคร่าวๆโดยเอาราคายางแผ่น 180 บาทต่อกิโล ไปคูณเพื่อให้เห็นตัวเลขตุ๊กตา ชาวสวนยางจะมี

รายได้วันละ 540 -720 บาทต่อไร่ 

ชาวสวนยางส่วนใหญ่จะปลูกกันเป็น 10 ไร่ขึ้นไป จนถึง 100 ไร่ พันไร่

สมมติว่ามีสวนยาง 10 ไร่
แต่ละวันชาวสวนยางก็จะมีรายได้ 5,400 - 7,200 บาท
เดือนหนึ่งก็มีรายได้ 162,000 - 216,000 บาท

ถ้ามี 20 ไร่ 30 ไร่ รายได้ต่อเดือนก็จะเพิ่มเป็นทวีคูณ รวยแค่ไหนไปคูณกันเอาเอง จึงไม่แปลกใจที่มีข่าวว่าคนใต้ถอยรถป้ายแดงกันเต็มเมือง

เฉพาะรถยนต์อีซูซุยี่ห้อเดียว คุณอนุพาสน์ สุวรรณมงคล กรรมการผู้จัดการอีซูซุหาดใหญ่ บอกผมว่า ปีที่แล้วเขาขายรถอีซูซุได้ 9,000 คัน

แม้แต่คนที่ไม่มีสวนยาง แต่กรีดยางเป็น วันนี้ก็รวยไม่รู้เรื่อง เพราะวันนี้ ที่ภาคใต้ไม่มีคนงานกรีดยาง หรือคนรับจ้างกรีดยางอีกต่อไปแล้ว มีแต่หุ้นส่วน เพราะคนกรีดยางจะกรีดยางแบบแบ่งปันผลประโยชน์กับเจ้าของสวนยาง

สวนยางที่อยู่ใกล้ถนน ส่วนแบ่งน้ำยางที่กรีดได้จะเป็น 60 - 40 คือ น้ำยางร้อยละ 60 เป็นของเจ้าของสวนยาง น้ำยางอีกร้อยละ 40 เป็นของคนกรีด แต่ถ้าเป็นสวนยางที่อยู่ลึกเข้าไปจากถนน

อัตราส่วนแบ่งจะเพิ่มขึ้นเป็น 50 - 50 คือ เจ้าของสวนยางได้น้ำยางร้อยละ 50 คนกรีดยางได้ ร้อยละ 5 ถ้าสามารถกรีดน้ำยางได้ถึงวันละ 100 กิโลกรัม
คนกรีดยางจะได้ส่วนแบ่งคิดเป็นเงินถึงวันละ 18,000 บาท
รวยไม่รวย ลองคิดเป็นตัวเลขออกมาดู

นี่ยังไม่นับ "ส่วนแบ่งที่ขโมยไป" อีกไม่รู้วันละเท่าไร คนในท้องที่เล่ากันว่า คนกรีดยางส่วนใหญ่จะไม่แจ้งจำนวนน้ำยางที่กรีดได้จริงกับเจ้าของสวนยาง แต่จะเม้มไว้ส่วนหนึ่ง เพราะรู้ว่าเจ้าของสวนยางไม่มี ปัญญาไปตรวจหรือไปกรีดยางเอง ดังนั้น คนกรีดยางจึงอาจมีรายได้ มากกว่าเจ้าของสวนยางเสียอีก

เห็นหรือยังว่าราคายางอย่างเดียวทำให้คนใต้รวยขนาดไหน

ผมอยากจะเรียก "น้ำยางพารา" ในสมัยนี้ว่า "ทองคำสีขาว" หรือ White Gold เหมือนกับที่เราเคยเรียก "น้ำมันดิบ" ว่า Black Gold หรือ "ทองคำสีดำ" มันไม่ต่างกันเลยจริงๆ แถมน้ำยางยังกรีดได้เรื่อยๆทุกวัน ยางต้นหนึ่งกรีดน้ำยางได้หลายสิบปี แต่น้ำมันดิบหมดแล้วหมดเลย

แม้น้ำยางพาราจะเป็น "ทองคำสีขาว" ของชาวใต้ที่กรีดได้ไม่มีวันหมด แต่เราก็ยังสู้ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไม่ได้ คุณชวน เล่าให้ฟังว่า มาเลเซียมีพื้นที่ปลูกยางน้อยกว่าไทยมาก แต่มีรายได้จากยางเท่าไทย เพราะไทยขายแต่ยางดิบ แต่มาเลเซียขายยางที่แปรสภาพเป็นสินค้าที่เพิ่มมูลค่าแล้ว นี่คือจุดอ่อนของไทย

จุดอ่อนของไทยอีกอย่างคือ "พันธุ์ยาง" ที่มีคุณภาพด้อยกว่ามาเลเซีย ให้น้ำยางน้อยกว่า รากสั้นล้มง่าย เพราะไม่มีการวิจัยและพัฒนาคุณภาพ อีกไม่นาน เขมร ลาว พม่า ก็จะมีสวนยางมาแข่งกับไทย ตอนนี้กำลังปลูก ถึงวันนั้น ไทยคงไม่ใช่ผู้ผลิตยางอันดับ 1 ของโลก อีกต่อไปแล้ว เศร้าใจไหม.

"ลม เปลี่ยนทิศ"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น