"ยางพารา"ราคาดี เตือนเกษตรกรรักษามาตรฐานการผลิต

15/2/54
โดยแนวหน้า เมื่อ 15 ก.พ.2554

สถานการณ์ราคายางพาราในขณะนี้เรียกได้ว่าสูงเป็น ประวัติการณ์ ส่งผลให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามลำดับ แต่สิ่งที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นห่วงคือเกรงว่าราคายางพาราที่สูงขึ้น จะทำให้เกษตรกรเร่งกรีดยางขณะที่ขนาดของต้นยางยังไม่เหมาะสม อีกทั้งมีการขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้ราคายางตกต่ำได้ในอนาคต

นายศุภชัย โพธิ์สุ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงเรื่องสถานการณ์ยางพาราในขณะนี้ว่า จากการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์ยางพาราของไทยและของโลก พบว่า ผลผลิตยางพาราของไทยมีแนวโน้มลดลงในช่วงปี 2549-2553 จาก 3.06 ล้านตัน เป็น 3.02 ล้านตัน หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 0.03 ต่อปี เนื่องจากสภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวย แต่จากโครงการของรัฐบาลที่มีการขยายพื้นที่ปลูกยางพาราเพิ่มขึ้น จึงคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ผลผลิตยางพาราจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 3.738 ล้านตัน หรือมีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ1.44 ต่อปี

ขณะที่การส่งออกยางพาราของไทยก็มีอัตราเพิ่มขึ้นเช่นกันเฉลี่ยร้อยละ 0.33 ต่อปี จาก 2.83 ล้านตันในปี 2549 เป็น 2.84 ล้านตันในปี 2553 และคาดว่าปริมาณการส่งออกในช่วงปี 2554 - 2563 มีอัตราเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.39 โดยในปี 2563 ปริมาณการส่งออกจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.10 ล้านตัน จะเห็นได้ว่าแม้ปริมาณการส่งออกจะเพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนการส่งออกของไทยมีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 39 - 43 ในช่วงปี 2549 - 2553 เหลือเพียงร้อยละ 32 ในปี 2563 เพราะคาดว่าจีนซึ่งเป็นประเทศผู้ใช้ยางพารารายใหญ่ที่สุดในโลกจะมีการนำเข้า ยางจากไทยในสัดส่วนลดลง เนื่องจากจีนได้มีการสนับสนุนการปลูกยางพาราในประเทศที่มีแนวชายแดนติดต่อ กับจีน เพื่อเป็นแหล่งวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางของจีนแทนการพึ่งพาแหล่ง วัตถุดิบแหล่งใหญ่จากไทยเพียงแหล่งเดียว ดังนั้นเพื่อเป็นการรองรับสถานการณ์ดังกล่าว ประเทศไทยต้องมีการสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในประเทศให้มีการใช้ ยางพาราในประเทศเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ร้อยละ 12 เป็นร้อยละ 16 ของผลผลิต

สำหรับสถานการณ์การผลิตและการส่งออกยางพาราโลก คาดว่า ราคายางพาราในอีก 10 ปีข้างหน้าจะยังคงอยู่ในระดับสูง แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสมมติฐานว่าเศรษฐกิจโลกจะไม่เกิดภาวะตกต่ำหรือถดถอย เนื่องจากในปี 2549-2553 โลกมีแนวโน้มการผลิตยางพาราเพิ่มขึ้น 8.907 ตัน เป็น 10.277 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 3.21 ต่อปี จึงคาดว่าการผลิตโลกในปี 2563 จะเพิ่มขึ้นเป็น 15.833 ล้านตัน และความต้องการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้นเป็น 16.058 ล้านตัน ขณะที่โลกมีความต้องการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 3.09 ต่อปี และคาดว่าในปี 2563 โลกจะมีการขาดแคลนยางพาราประมาณ 2.25 แสนตัน อย่างไรก็ตาม หลังจากปี 2563 หากผลผลิตยางพารายังคงเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 4.27 ต่อปี และความต้องการใช้ยางพาราโลกยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 3.41 ต่อปีเท่าเดิม ทำให้คาดได้ว่าปริมาณผลผลิตยางพาราโลกจะมากกว่าปริมาณความต้องการใช้ ซึ่งจะส่งผลต่อราคายางพาราให้ลดลงได้

แต่ในด้านของราคานั้นในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมาราคายางพาราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ในตลาดซื้อขายล่วงหน้าสิงคโปร์ ตลาดซื้อขายล่วงหน้าโตเกียว และราคาส่งออกเอฟ.โอ.บี. ของไทย มีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.24,5.98 และ 5.33 ต่อปี ตามลำดับ ราคายางแท่งในตลาดซื้อขายล่วงหน้าสิงคโปร์มีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4.76 ต่อปี ขณะที่ราคายางแผ่นดิบคุณภาพ 3 ที่เกษตรกรขายได้ มีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 6.38 ต่อปี

ดังนั้นจากข้อมูลเหล่านี้กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการประเมินสาเหตุและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากสถานการณ์การผลิตและราคา ยางพาราที่สูงขึ้นในปัจจุบัน พบว่าปัจจัยที่ส่งผลทำให้ราคายางพาราสูงขึ้น มีสาเหตุสำคัญจากผลผลิตตึงตัวเนื่องจากแหล่งผลิตยางพาราที่สำคัญทางภาคใต้ ประสบปัญหาภัยแล้งและปัญหาอุทกภัย ขณะเดียวกัน ประเทศผู้ใช้ยางพารายังมีความต้องการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะอินเดียและจีน รวมถึงมีการเก็งราคาเพื่อทำกำไรในตลาดล่วงหน้าของนักลงทุน ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกก็มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

นายศุภชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะสั้นซึ่งแม้ว่าขณะนี้ราคายางพาราที่สูงขึ้นจะส่ง ผลทำให้เกษตรกรในหลายพื้นที่ได้รับประโยชน์และมีรายได้ที่สูงขึ้น และไม่กระทบต่อการส่งออก เนื่องจากประเทศผู้ใช้ยางพารายังมีความต้องการใช้สูง แต่จากราคาที่สูงขึ้นขณะนี้ทำให้เกษตรกรอาจเร่งเปิดกรีดยางขณะที่ลำต้นยัง ไม่ได้ขนาดที่เหมาะสม ซึ่งมีพื้นที่ปลูกยางพาราที่ยังไม่เปิดกรีดยางทั้งหมดประมาณ 6.32 ล้านไร่ หรือประมาณ 4.2 แสนครัวเรือน ที่จะส่งผลกระทบทำให้ผลผลิตยางลดลงและยางมีอายุสั้นลง รวมถึงในบางพื้นที่เสียโอกาสจากการเพิ่มขึ้นของราคา เช่น พื้นที่ภาคใต้ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมาทำให้ไม่สามารถกรีดยางได้ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เช่น อุตสาหกรรมผลิตยางแบบจุ่ม ได้แก่ ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย ที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบมากกว่า 98%

"แต่สิ่งที่กระทรวงเกษตรฯ มีความกังวล คือ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากราคายางพาราที่สูงขึ้นในระยะยาว เนื่องจากเกรงว่าเกษตรกรจะมีการขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมา ไม่ว่าจะเป็นการแผ้วถางป่าหรือปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกจากพืชอื่นมาปลูกยาง แทน รวมทั้งการปลูกยางพาราในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมที่จะส่งผลให้ผลผลิตยางพาราต่อ ไร่ต่ำ ซึ่งเบื้องต้นกระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดมาตรการรองรับ โดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกยางพาราในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ ที่ชัดเจน" นายศุภชัย กล่าวย้ำ

ถึงแม้ขณะนี้จะเป็นปีทองของเกษตรกรชาวสวนยางก็ตาม แต่ไม่ควรชะล่าใจเพราะราคาสินค้าเกษตรมีความผันผวนตลอดเวลา ดังนั้น การรักษามาตรฐานในการจัดการสวนยางและกรีดยางที่มีอายุเหมาะสมก็น่าจะช่วยลด ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น