เปิดโมเดล”เจริญ”รุกเกษตร งัดสต๊อกที่ดินแสนไร่ปลูก”ยาง-อ้อย-ข้าว-ปาล์มน้ำมัน”

15/6/53
โดยมติชน เมื่อ 15 มิ.ย.2553

เปิดโมเดล”เจริญ”รุกเกษตร งัดสต๊อกที่ดินแสนไร่ปลูก”ยาง-อ้อย-ข้าว-ปาล์มน้ำมัน”

เปิดตัวธุรกิจ Plantation สวนเกษตรกรรมขนาดใหญ่ของเจ้าสัวเจริญในนาม

บริษัท เทอราโกร 

จากการต่อยอดพัฒนาที่ดินในเครือทีซีซีแลนด์ทั่วประเทศ ลงมือเนรมิตทั้ง

สวนยางพารา 100,000 ไร่ 
อ้อย 20,000 ไร่ 
ทำแปลงเมล็ดพันธุ์ข้าว สวนส้ม ข้ามเข้าไปใน สปป.ลาว-เขมร 
ปลูกกาแฟอาราบิก้า ปาล์มน้ำมัน 

เตรียมลงทุนครั้งใหญ่สร้างโรงงานแปรรูปรองรับผลผลิต

นายวินิจ วสุนธราธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทอราโกร จำกัด ในเครือกลุ่มบริษัทพรรณธิอร

ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรของ

นายเจริญ สิริวัฒนภักดี
กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงการดำเนินการของบริษัทในปัจจุบันว่า บริษัทวางเป้าหมายที่จะสร้างผลผลิตทางการเกษตรในกลุ่มให้ได้ประโยชน์สูงสุด โดยเชื่อมโยงกับบริษัทในเครือพรรณธิอร ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิตปุ๋ย โรงงานน้ำตาล และอุตสาหกรรมการเกษตรของกลุ่มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“เทอราโกรเป็นบริษัทที่ลงทุนทางด้านการเกษตรจากที่ดินในเครือทีซีซีแลนด์ทั้งในและนอกประเทศ เราพัฒนาที่ดินขึ้นมาเพื่อทำการเกษตร โดยขณะนี้ได้ปลูกพืชไปแล้วหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นยางพารา อ้อย ข้าว กาแฟ ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ให้ได้ผลผลิตสูงสุด มีการบริหารจัดการที่ดี ทั้งในด้านของสวน แหล่งน้ำ และการตลาด อีกทั้งยังเข้าไปส่งเสริมเกษตรกรในเครือข่ายของเรา ทำอย่างไรจะได้ผลผลิตสูงสุด ในต้นทุนที่ต่ำ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ เพิ่มขึ้น เราก้าวไปพร้อม ๆ กัน เกษตรกรอยู่ได้ เราก็อยู่ได้” นายวินิจกล่าว

เริ่มต้นสวนยางพารา-อ้อย

บริษัทเทอราโกรเริ่มต้นธุรกิจพืชสวนขนาดใหญ่ (Plantation) จากการปลูกยางพาราในปี 2547 พร้อม ๆ กับโครงการส่งเสริมการปลูกยางล้านไร่ของรัฐบาล ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกยางพารารวมทั้งสิ้น 56,000 ไร่ กระจายอยู่ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี, นครสวรรค์, หนองคาย, พะเยา, เชียงราย, อุดรธานี, เพชรบูรณ์, อ.ด่านซ้าย จ.เลย, อ.ปลวกแดง จ.ระยอง, ชลบุรี และปราจีนบุรี ใช้เงินลงทุนสร้างสวนยางเฉลี่ยไร่ละ 15,000 บาท ทั้งโครงการมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 700 ล้านบาท ในอนาคตบริษัทวางแผนที่จะขยายพื้นที่ปลูกยางพาราให้ครบ 100,000 ไร่

“สวนยางของบริษัทเน้นพื้นที่ปลูกขนาดใหญ่และเรายังได้เข้าไปส่งเสริมการปลูกยางในระบบคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งเพื่อรับซื้อผลผลิตป้อนโรงงานแปรรูปยาง ทั้งโรงงานผลิตน้ำยางข้น โรงงานผลิตยางแท่ง โรงงานผลิตยางแผ่นรมควัน ที่บริษัทจะลงทุนตั้งโรงงานขึ้นในอนาคต หลังจากที่ต้นยางโตพอที่จะกรีดได้ ขณะนี้เราได้เข้าร่วมกับสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) จัดโครงการอบรมการกรีดยางในพื้นที่ภาคเหนือ-อีสาน เพื่อเตรียมแรงงานกรีดยางไว้รองรับสวนของเราในอีก 2-3 ปีข้างหน้า” นายวินิจกล่าว

นอกจากการลงทุนทำสวนยางแล้ว ในกลุ่มพรรณธิอรยังมีกิจการโรงงานน้ำตาลอีก 3 โรง และกำลังจะตั้งขึ้นมาใหม่อีก 2 โรง ทำให้บริษัทต้องเข้าไปส่งเสริมการปลูกอ้อยพื้นที่ 20,000 ไร่ ในระบบ Contract-farming บริเวณใกล้เคียงกับสถานที่ตั้งโรงงานน้ำตาลในจังหวัดกำแพงเพชร สุโขทัย และอุตรดิตถ์ โดยนำเทคโนโลยีและวิทยาการเกษตรสมัยใหม่มาปรับใช้พัฒนาชลประทานอย่างเหมาะสม เช่น ระบบน้ำหยดบนดิน ระบบน้ำหยดใต้ดิน ระบบ Center Pivot และระบบ Furrow

ผลการนำเทคโนโลยีมาช่วยเหล่านี้ทำให้ได้ผลผลิตอ้อยต่อไร่เพิ่มสูงขึ้น ยกตัวอย่าง อ้อยที่ปลูกในระบบ Furrow ให้ผลผลิตเฉลี่ย 18 ตัน/ไร่ ส่วนอ้อยที่ปลูกในระบบน้ำหยดให้ผลผลิตเฉลี่ย 21 ตัน/ไร่ ทั้ง ๆ ที่พันธุ์อ้อยที่นำมาปลูกก็เป็นพันธุ์อ้อยที่ กรมวิชาการเกษตรแนะนำ

“ในอุตสาหกรรมอ้อยโดยทั่วไปจะมีการส่งเสริมการปลูกโดยแจกจ่ายพันธุ์อ้อยหรือที่เรียกว่า เกี๊ยวอ้อย ด้วยการจ่ายเงินให้ชาวไร่อ้อยไปก่อนเพื่อบำรุงพันธุ์อ้อย หรือ ที่เรียกว่า การปล่อยเกี๊ยว แต่บริษัทไม่ได้ปล่อยเกี๊ยวอ้อยอย่างเดียว เรายังนำระบบการปล่อยเงินกู้เพื่อการชลประทาน หรือที่เรียกว่า เกี๊ยวน้ำ เข้ามาใช้ด้วย ยกตัวอย่าง ชาวไร่อ้อยที่สนใจสร้างระบบชลประทาน น้ำหยดต้องใช้เงินลงทุนเฉลี่ยไร่ละ 11,000 บาท ส่วนการติดตั้งระบบ Furrow ใช้เงินลงทุนเฉลี่ยไร่ละ 5,000 บาท เราก็เข้ามาช่วยปล่อยเงินให้ตรงนี้ แปลงอ้อยก็จะได้รับการจัดการที่ดี ผลผลิตสูงขึ้น เราก็รับซื้อผลผลิตนั้นส่งเข้าโรงงานน้ำตาลของเราที่โรงงานน้ำตาลอุตรดิตถ์-แม่วัง-สุพรรณบุรี และยังมีแผนเปิดโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่อีก 2 แห่งที่ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย และกำแพงเพชร” นายวินิจกล่าว

ทั้งนี้โมลาสที่ได้จากกระบวนการหีบอ้อยยังถูกส่งไปทำเหล้าให้กับกลุ่มบริษัทในเครือไทยเบฟเวอเรจ และผลิตแอลกอฮอล์ของบริษัทไทยแอลกอฮอล์ จำกัด (มหาชน)

จำหน่ายพันธุ์ข้าวด็อกเตอร์

นอกจากการปลูกยางพาราและอ้อยแล้ว บริษัทเทอราโกรยังได้เริ่มธุรกิจผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ในเนื้อที่ 15,000 ไร่ แบ่งเป็นแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวในพระนคร ศรีอยุธยาประมาณ 10,000 ไร่ จังหวัดหนองคายประมาณ 2,000 ไร่ ที่เหลือกระจายอยู่ในพื้นที่จังหวัดลพบุรี พะเยา โดยธุรกิจพันธุ์ข้าวนี้จะบริหารงานภายใต้ชื่อ บริษัท ลานช้าง ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด ทำการซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าว เช่น ข้าวชัยนาท ข้าวปทุมธานี 1 จากกรมข้าวเพื่อนำมา ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตในระบบ Contract-farming และรับซื้อคืนเพื่อจำหน่ายเป็นเมล็ดพันธุ์ขยาย ในปีนี้เป็นปีแรกภายใต้เครื่องหมายการค้า “ข้าวด็อกเตอร์” ให้กับชาวนาที่สนใจ โดยตั้งเป้ายอดขายในปีนี้ไว้ที่ 3,000 ตัน

ส่วนธุรกิจที่เหลือบริษัทมีการทำสวนส้มบนเนื้อที่ 3,600ไร่ ตั้งอยู่ใน อ.แม่จัน จ.เชียงราย ดำเนินภายใต้ชื่อบริษัทเอ็กเวิล์ด จำกัด ขณะนี้เริ่มมีผลผลิตส้มวางจำหน่ายในท้องตลาดแล้วในชื่อแบรนด์ “ส้มดอยแก้ว” โดยวางจำหน่ายส้มในห้างสยามพารากอน เดอะมอลล์ ธุรกิจนี้ถือเป็นธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่การลงทุนก็มีความเสี่ยงสูงจากปัญหาโรคระบาดเช่นกัน

ปลูกกาแฟในลาว ทำสวนปาล์มในเขมร

ทางด้านการลงทุนทำสวนเกษตรใน ต่างประเทศนั้น บริษัทมีการปลูกและผลิตเมล็ดกาแฟอาราบิก้าที่เมืองปากซอง สปป.ลาว ในพื้นที่ 15,000 ไร่ ได้รับการ ส่งเสริมการลงทุนจาก สปป.ลาวในนามบริษัทปากซอง ไฮแลนด์ สามารถถือครองที่ดินเป็นระยะเวลา 90 ปี ปัจจุบันสวนกาแฟถูกปลูกในเขตภูเขาระดับความสูง 1,300 เมตร อุณหภูมิเฉลี่ย 18 องศาเซลเซียส ผู้เชี่ยวชาญด้านกาแฟของโลกได้มาดูสวนกาแฟของเราแล้วบอกว่า พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งปลูกกาแฟอาราบิก้าที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ปัจจุบันสวนกาแฟแห่งนี้มีอายุครบ 3 ปีแล้ว จะเริ่มเก็บผลผลิตกาแฟครั้งแรกได้ในช่วงเดือนธันวาคม 2553 นี้

ส่วนการลงทุนในกัมพูชานั้นบริษัทได้ดำเนินการตั้งบริษัทปาล์มมิลล์ทำสวนปาล์มน้ำมัน เนื้อที่ประมาณ 5,200 ไร่ และกำลังก่อสร้างโรงงานกลั่นน้ำมันปาล์มที่ เกาะกง นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันที่จังหวัดชุมพรอีกประมาณ 1,000 ไร่แล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น