บางจากฯ แปลงสวนส้มร้างทุ่งรังสิต1,200 ไร่เป็นศูนย์ปาล์มน้ำมัน ฟื้นรายได้เกษตรกร

2/10/55
โดยมติชน เมื่อ 27 ก.ย.2555

เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2555 บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เปิดศูนย์ศึกษาและพัฒนาการปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ทุ่งรังสิต อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของเกษตรกร โดยพลิกสวนส้มร้างให้เป็นแหล่งพลังงานทดแทนที่ยั่งยืน สร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

ดร.อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ศูนย์ศึกษาและพัฒนาการปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ทุ่งรังสิตจะเป็นแหล่งให้ เกษตรกรผู้สนใจจะได้เรียนรู้การปลูกปาล์มน้ำมันอย่างครบวงจร ตั้งแต่การคัดเลือกต้นพันธุ์ การปรับปรุงดินเปรี้ยว รวมถึงวิธีการปลูกปาล์มน้ำมันให้ได้ผลตอบแทนที่ดี และสร้างเครือข่ายระหว่างกลุ่มเกษตรกรเพื่อให้เกิดการรวมกลุ่ม แลกเปลี่ยนประสบการณ์และช่วยเหลือระหว่างกัน

โดยบริษัท บางจากฯ สนับสนุนให้มีการปลูกปาล์มเฉพาะในพื้นที่ดินเปรี้ยว ซึ่งไม่สามารถปลูกข้าวและพืชอื่นๆ ได้ เพื่อใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร และยังช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ ที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน ซึ่งผลผลิตจากปาล์ม จะนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซล สนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนในประเทศ สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ช่วยลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้ประหยัดเงินตราต่างประเทศและลดการขาดดุลการค้า

นอกจากนี้ บริษัท บางจากฯ ยังมีแผนลงทุนสร้างโรงสกัดน้ำมันปาล์มขนาดมาตรฐานเมื่อมีการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มในปริมาณที่มากเพียงพอ เพื่อรองรับผลผลิตปาล์มน้ำมันในพื้นที่ ตลอดจนเป็นผู้รับซื้อผลผลิตจากโรงสกัดน้ำมันปาล์มดังกล่าว เพื่อนำมาผลิตเป็นไบโอดีเซล ณ ศูนย์ผลิตไบโอดีเซล อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รองรับการจำหน่ายไบโอดีเซลผ่านสถานีบริการน้ำมันบางจากที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อนึ่ง โครงการ “ศูนย์ศึกษาและพัฒนาการปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ทุ่งรังสิต” อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก บริษัท บางจากฯ ได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ซึ่งในเบื้องต้น ทำการทดลองปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ 1,200 ไร่

นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานมีนโยบายสนับสนุนการใช้ไบโอดีเซล โดยส่งเสริมให้นำไบโอดีเซล B 100 ผสมในน้ำมันดีเซลในสัดส่วนร้อยละ 3 – 5 เพื่อให้ได้ไบโอดีเซลที่สอดคล้องกับปริมาณการผลิตน้ำมันปาล์มดิบในประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ

นายอนันต์ ลิลา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า พื้นที่สวนส้มร้างทุ่งรังสิตมีศักยภาพในการปลูกปาล์มน้ำมัน สามารถพัฒนาเป็นแหล่งปลูกปาล์มน้ำมันขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคกลางได้ เนื่องจากมีระบบชลประทานที่ดี และสามารถปลูกได้ในดินเปรี้ยว ซึ่งจากการทดลองปลูกกว่า 6 ปี พบว่าได้ผลผลิตที่ดี เนื่องจากปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ชอบน้ำ จึงช่วยดูดซับน้ำในฤดูน้ำหลาก ป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานครได้อีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้การสนับสนุนด้านวิชาการ คัดเลือกและจัดหาพันธุ์ปาล์ม ตลอดจนให้ความรู้ในการจัดการสวนปาล์มแก่เกษตรกรในโครงการนี้

นายมณฑล สระทองน้อย ผู้อำนวยการสำนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส. ให้บริษัท บางจากฯ เช่าพื้นที่ประมาณ 1,200 ไร่ เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์ศึกษาและพัฒนาสวนส้มร้างทุ่งรังสิตเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน และพร้อมให้การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและช่วยแก้ปัญหาด้านภาระหนี้สินที่มีอยู่กับธกส.
Read more ...

ปาล์มน้ำมันของมาเลเซีย 2/2

2/10/55
โดยคมชัดลึก เมื่อ 6 ส.ค.2555

ปาล์มน้ำมันของมาเลเซีย (2) : คอลัมน์ เกษตรยุคใหม่ : โดย ... รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ

คราวที่แล้วได้เล่าเกริ่นนำไปแล้วว่ามาเลเซียมีความก้าวหน้าด้านปาล์มน้ำมันมากกว่าไทยค่อนข้างมาก และได้ใส่ใจเรื่องของการพัฒนาพันธุ์และมีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจนจากรัฐ ทำให้ทุกวันนี้ปาล์มน้ำมันของมาเลเซียเป็นอย่างที่เห็น ประเทศที่ปลูกปาล์มน้ำมันมากที่สุดในโลกก็คือ

อินโดนีเซีย ซึ่งมีประมาณ 50 ล้านไร่ รองลงมาคือ

มาเลเซียคือ 35 ล้านไร่ ตามด้วย

ไนจีเรีย สำหรับ

ไทยเป็นอันดับสี่ คือประมาณ 5.5 ล้านไร่ เรียกได้ว่าห่างกันค่อนข้างมาก

จากการที่ได้ไปดูงาน

เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อปาล์มน้ำมัน

ที่เมืองอิโปห์ของมเลเซีย โดยมี 

ดร. อึ๊ง ซิวกี่ 

ผู้เชี่ยวชาญปาล์มน้ำมันซึ่งได้ค้นคว้าพัฒนาปาล์มน้ำมันมาตลอดชีวิต เป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากและมีส่วนในการทำให้ปาล์มน้ำมันของมาเลเซียมีความก้าวหน้าอย่างทุกวันนี้

ระหว่างทางจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ไปยังเมืองอิโปห์ ประมาณเกือบ 200 กิโลเมตร ทั้งสองข้างทางเป็นสวนปาล์มเกือบทั้งหมด แทบไม่พบสวนยางอย่างในอดีต เพราะรัฐบาลมาเลเซียมีวิสัยทัศน์ชัดเจนว่ายางพาราไม่น่าจะเป็นพืชที่เหมาะสมสำหรับมาเลเซีย เพราะขาดแรงงานในการกรีดยางและเห็นว่าน้ำมันปาล์มในอนาคตน่าจะมีความสำคัญมากขึ้นในหลายๆ ด้าน จึงกำหนดนโยบายเปลี่ยนยางพารามาเป็นปาล์มน้ำมัน และครองความเป็นเลิศด้านปาล์มน้ำมันอยู่ ในขณะที่ปล่อยให้ไทยเราเป็นผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ของโลก ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีว่าเราก็ส่งออกเพียงในรูปของผลิตภัณฑ์ยางเบื้องต้นซึ่งมีราคาต่ำ นั่นคือยางข้น ยางแผ่น เหมือนในอดีต

ปาล์มน้ำมันความจริงแล้วก็ไม่ใช่พืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในมาเลเซียหรือว่าอินโดนีเซีย แต่เมื่อประมาณร้อยกว่าปีที่แล้วคือปี พ.ศ.2391 ชาวดัตช์เป็นคนนำปาล์มน้ำมันเข้ามาปลูกที่อินโดนีเซียในลักษณะของไม้ประดับ ซึ่งต่อมาก็มีการขยายเข้ามาในมาเลเซียอีก 62 ปีต่อมา จึงเริ่มเห็นประโยชน์ของปาล์มน้ำมัน นอกเหนือจากการเป็นไม้ประดับ คือการนำมาสกัดน้ำมันเพื่อเป็นอาหารใช้แทนน้ำมันจากสัตว์ น้ำมันถั่วเหลืองหรือถั่วลิสงได้

ในช่วงแรกที่นำเข้ามาในมาเลเซีย เป็นการดำเนินงานของเอกชนชาวอังกฤษ แต่ต่อมาอีกประมาณ 50-60 ปี รัฐบาลมาเลเซียเห็นความสำคัญและเห็นอนาคตที่สดใสของปาล์มน้ำมัน จึงเข้ามาให้ความสนใจและผลักดันเป็นพิชเศรษฐกิจตัวใหม่เข้ามาทดแทนยางพารา อย่างน้อยก็เพื่อเป็นหลักประกันความล้มเหลวโดยไม่ยอมเสี่ยงกับการสร้างรายได้จากพืชชนิดเดียวเช่นยางพาราที่เดิมสร้างรายได้หลักให้มาเลเซียอีกต่อไป ปัจจุบันมาเลเซียใช้น้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภคในประเทศประมาณ 60% ที่เหลือมีการนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งส่งออกบางส่วน แต่มีการนำมาใช้ทำเชื้อเพลิงน้อยมาก

มาเลเซียปลูกปาล์มน้ำมันมาก เป็นพืชหลักของประเทศ แต่ไม่ได้ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม รัฐบาลให้ความสำคัญในการวิจัยและพัฒนาเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงมีองค์กรต่างๆ ที่ดูแล และมีสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและเพิ่มมูลค่าของน้ำมันปาล์ม ที่สร้างผลงานหลายอย่างออกมา ทำให้มาเลเซียสามารถสร้างความเป็นเลิศด้านนี้ได้อย่างเต็มภาคภูมิ โดยภาพรวมแล้วไม่ว่าเราจะครองความเป็นหนึ่งด้านใดก็ตาม เช่น ข้าว กุ้ง ยางพารา สิ่งเหล่านี้ทำได้อย่างมากคือการขายผลผลิตในรูปวัตถุดิบในปริมาณมากเท่านั้น เราแทบไม่ได้ใส่ความรู้จากการวิจัยเพื่อความยั่งยืนเข้าไปเลย เหตุผลก็คงเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าหาคนที่มีวิสัยทัศน์เรื่องนี้ได้น้อยมากในเมืองไทยครับ!
Read more ...

ปาล์มน้ำมันในมาเลเซีย 1/2

2/10/55
โดยคมชัดลึก เมื่อ 30 ก.ค. 2555

ปาล์มน้ำมันในมาเลเซีย : คอลัมน์ เกษตรยุคใหม่ : โดย ... รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมห้องแล็บเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อปาล์มน้ำมันที่บริษัทใหญ่แห่งหนึ่งในมาเลเซีย ซึ่งทำธุรกิจเพาะกล้าปาล์มจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากต้นปาล์มลูกผสมพันธุ์ดีที่คัดมาแล้ว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้ปาล์มน้ำมันของมาเลเซียมีความก้าวหน้ากว่าเมืองไทยมาก ทั้งในเรื่องของผลผลิตและปริมาณน้ำมันในผลปาล์ม

ปัจจุบันบริษัทนี้ผลิตต้นพันธุ์ปาล์มน้ำมันด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อปีละประมาณ 6 หมื่นต้นเพื่อขายในประเทศ ปัจจุบันสวนปาล์มในมาเลเซียประมาณ 7 หมื่นไร่ ปลูกปาล์มพันธุ์นี้อยู่

เหตุผลที่ต้นปาล์มจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเหนือกว่าต้นกล้าทั่วไปก็คือความสม่ำเสมอของต้น ทั้งการเติบโตและผลผลิต เพราะว่าการคัดเลือกต้นพันธุ์ที่จะนำมาขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนั้นต้องมีหลักเกณฑ์ ซึ่งโดยทั่วไปก็คือการคัดเลือกต้นที่ให้ผลผลิตสูง ผลมีขนาดใหญ่ การสุกของผลในทะลมีความสม่ำเสมอ และเรื่องที่สำคัญคือมีเนื้อหนาและเมล็ดเล็ก

ทั้งหมดนี้เป็นผลโดยรวมให้ปริมาณน้ำมันในผลสูงมากกว่า 26% ถ้ามองเป็นรายต้นอาจดูไม่มากเท่าใดนัก แต่ถ้าปลูกกันเป็นไร่ ผลผลิตและปริมาณน้ำมันที่ต่างกันเพียงเล็กน้อยก็จะยิ่งเห็นความแตกต่างชัดเจนขึ้น

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อก็เป็นวิธีการขยายพันธุ์แบบหนึ่ง เหมือนกับการปักชำ หรือการตอนกิ่ง นั่นก็คือเป็นการขยายพันธุ์โดยไม่ใช้เพศ ต้นที่ได้จึงควรเหมือนต้นแม่ทุกประการ ซึ่งวิธีการนี้เรียกว่า "โคลนนิ่ง" แต่ว่าการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออาจต่างจากการขยายพันธุ์แบบตอนกิ่งหรือปักชำตรงที่ว่า อาจมีการกลายพันธุ์เกิดขึ้นได้บ้าง เพราะว่าชิ้นส่วนเนื้อเยื่อที่นำมาขยายพันธุ์มีขนาดเล็กมากและต้องมีการแบ่งเซลล์หลายต่อหลายครั้งเพื่อการเติบโต จึงมีโอกาสผิดเพี้ยนได้มากกว่า

สำหรับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อปาล์มน้ำมันนั้น อาจเป็นวิธีการเดียวของการขยายพันธุ์โดยไม่ใช้เพศ เพราะว่าปาล์มน้ำมันเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวและไม่มีการแตกหน่อ จึงไม่สามารถตอนกิ่งหรือปักชำได้ ความยากจึงอยู่ตรงนี้ และต้องมีการศึกษาวิจัยอย่างมากกว่าที่จะประสบความสำเร็จ เนื่องจากต้นปาล์มแต่ละต้นมีการตอบสนองต่อการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อไม่เหมือนกัน

บางครั้งอาจพบปัญหาว่าเพาะเลี้ยงมาเกือบ 2 ปีแล้ว แต่ไม่สามารถชักนำให้เกิดต้นและรากได้ หมายความว่าเกิดการเสียเปล่า ดังนั้นการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจึงมีความเสี่ยงสูงที่จะไม่สำเร็จได้เช่นกัน

ปาล์มน้ำมันเป็นพืชยืนต้น เติบโตและให้ผลผลิตต่อเนื่องได้มากกว่า 25 ปี ดังนั้นถ้าลงทุนปลูกไปแล้วโดยใช้พันธุ์ไม่ดี ก็ต้องทนอยู่กับต้นนั้นไปนาน ได้ผลผลิตต่ำ น้ำมันน้อย ไม่คุ้มค่าการลงทุน เกษตรกรผู้ปลูกจึงพยายามขวนขวายหาพันธุ์ปาล์มที่ดีมาปลูก โดยการสั่งเมล็ดเข้ามาจากแหล่งปลูกต่างๆ ที่มีชื่อเสียง เช่นคอสตาริกา แต่ส่วนใหญ่แล้วพันธุ์ที่ได้มามักจะเป็นของเหลือทิ้งจากประเทศเหล่านั้น เพราะว่าคงไม่มีใครส่งของดีเข้ามาให้เรา

ผลก็คือปาล์มน้ำมันของเราไม่มีทางสู้คนอื่นได้เลย สิ่งที่จะทำให้ไทยเรามีความก้าวหน้าทันโลกได้ก็คือ ต้องมีการพัฒนาพันธุ์ปาล์มที่เหมาะสมสำหรับเมืองไทยขึ้นมาใช้เอง และแน่นอนว่าต้องใช้ทั้งเงินและเวลา รวมทั้งนักวิจัยที่ทุ่มเทในเรื่องนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพราะว่าปาล์มน้ำมันเป็นพืชยืนต้น ต้องใช้เวลาหลายปีในการปรับปรุงพันธุ์ ไม่เหมือนพืชล้มลุกทั้งหลายที่ใช้เวลาสั้นกว่า

คราวหน้าจะมาเล่าให้ฟังว่าการปลูกปาล์มของมาเลเซียมีมากน้อยเพียงใด และมีความก้าวหน้ามากกว่าเราขนาดไหนครับ!
Read more ...