เกรท อะโกร -เอ็มเทค พัฒนาระบบสกัดน้ำมันปาล์มไม่ใช้ไอน้ำระดับชุมชน

11/4/54
เมื่อ 12 ต.ค.2552

นายนเรศว์ร ชิ้นอินมนู ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท เกรท อะโกร จำกัด ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้น้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการขนส่งและภาคอุตสาหกรรมเฉลี่ย 49 ล้านลิตร/วัน ทำให้แต่ละปีต้องสูญเสียเงินตราในการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะให้การสนับสนุนการพัฒนาพืชพลังงาน เพื่อเป็นทางเลือกด้านพลังงานและลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นพืชที่มีศักยภาพในการผลิตเป็นไบโอดีเซลเพื่อทดแทนการนำเข้าน้ำมันดีเซล

อย่างไรก็ตาม การขยายพื้นที่ปลูกปาล์มขนาดใหญ่ 20,000-60,000 ไร่ขึ้นเพื่อรองรับการตั้งโรงสกัดน้ำมันปาล์มขนาดใหญ่กำลังผลิต 15-60 ตันผลปาล์มต่อชั่วโมงเป็นเรื่องยาก ทำให้เกษตรกรรายย่อยในหลายพื้นที่ รวมทั้งกลุ่มผู้ปลูกปาล์มรายใหม่ที่มีพื้นที่ปลูกเฉลี่ย 1,000-3,000 ไร่ ต้องเสียค่าขนส่งผลผลิตที่แพงไปยังโรงสกัดน้ำมันขนาดใหญ่ที่อยู่ไกล อีกทั้งการขนส่งผลผลิตปาล์มในระยะทางไกลๆยังเป็นสาเหตุทำให้คุณภาพและเปอร์เซ็นต์ของน้ำมันปาล์มที่สกัดได้ลดลงด้วย

“จากปัญหาข้างต้น บริษัทฯ จึงทำการวิจัยร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) เพื่อพัฒนาเครื่องต้นแบบระบบการสกัดน้ำมันปาล์มแบบไม่ใช้ไอน้ำระดับชุมชน CPP-1500 ซึ่งเป็นเครื่องสกัดน้ำมันปาล์มแบบไม่ใช้ไอน้ำเครื่องแรกของโลกที่สามารถสกัดน้ำมันปาล์มเกรด A และไม่มีปัญหาน้ำเสีย รวมทั้งกากที่เหลือจากการสกัดยังสามารถใช้เป็นอาหารสัตว์อีกด้วย นอกจากนี้เทคโนโลยีดังกล่าวยังมีระบบการควบคุมการทำงานที่สะดวก ติดตั้งง่าย ประหยัดพลังงานและสามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย สอดคล้องกับการทำงานในระดับชุมชน โดยเฉพาะแห่งปลูกปาล์มใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่มีพื้นที่ปลูกเฉลี่ย 1,000-3,000 ไร่” นายนเรศว์ร กล่าว

นายนเรศว์ร กล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุด บริษัทฯ และเอ็มเทค ได้ทำสัญญากับ บริษัท ศิริรัตน์ ฟู๊ด แอนด์ เอ็นเนอร์ยี จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจลานเทรายใหญ่ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในการซื้อขายระบบสกัดน้ำมันปาล์มแบบไม่ใช้ไอน้ำขนาดกำลังการผลิต 1 ตันผลปาล์มต่อชั่วโมงจำนวน 1 เครื่อง ซึ่งอยู่ระหว่างการติดตั้งและทดสอบระบบคาดว่าจะสามารถเดินเครื่องได้เร็วๆนี้ ขณะเดียวยังมีผู้ประกอบการที่รวบรวมผลปาล์ม และกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มแห่งใหม่กว่า 20 รายในหลายพื้นที่ฤฤได้แจ้งความจำนงที่จะเข้าเยี่ยมชมการทำงานของเครื่องต้นแบบที่โครงการไบโอดีเซลชุมชนเฉลิมพระเกียรติฯ ทุ่งหลวงรังสิตตอนบน เบื้องต้นภายในสิ้นปี 2552 จะมียอดสั่งซื้อระบบสกัดน้ำมันปาล์มแบบไม่ใช้ไอน้ำประมาณ 10 เครื่อง คิดเป็นมูลค่าประมาณ 50,000,000 บาท

อนึ่ง ที่ผ่านมาโรงหีบปาล์มน้ำมันในประเทศไทยมีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ 1.โรงหีบระบบไอน้ำกำลังการผลิต 15-60 ตันผลปาล์มต่อชั่วโมง มูลค่าการลงทุน 100-150 ล้านบาท ซึ่งแม้ว่าจะสามารถสกัดน้ำมันเกรด A แต่มีข้อจำกัดเรื่องน้ำเสียที่เกิดขึ้น รวมทั้งกากที่เหลือจากการสกัดยังไปใช้ประโยชน์ได้น้อย 2.โรงหีบระบบแห้งแบบดั้งเดิมกำลังการผลิต 1-5 ตันผลปาล์มต่อชั่วโมง น้ำมันที่ได้เป็นน้ำมันเกรด B แต่มีข้อดีคือไม่มีน้ำเสีย และกากที่ได้จากสกัดสามารถนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ได้เพราะมีโปรตีนสูง ซึ่งปัจจุบันตลาดรับซื้อที่ กก.ละ 3-4 บาท ทางบริษัทฯ และเอ็มเทคจึงได้นำข้อดีของทั้ง 2 ระบบมาพัฒนาเป็นเครื่องสกัดน้ำมันปาล์มแบบไม่ใช้ไอน้ำระดับชุมชน CPP-1500

3 ความคิดเห็น:

  1. สวัสดีครับผมเป็นนักศึกษา อยากจะทำเครื่องสกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็ก สักเครื่องหนึ่งแต่ยังไม่ทราบกระบวนการผลิตเลย ถ้าผมอยากจะทราบกระบวนการผลิตและสกัดน้ำมันปาล์มแบบไม่ใช้ไอน้ำ จะสามารถแนะนำการสกัดให้ผมได้หรือป่าวครับ

    ตอบลบ
  2. ยังไงก็กรุณาตอบด้วยนะครับผม ทางe-mail pop_eye_ax@hotmail.com

    ตอบลบ
  3. เครื่องสกัดน้ำมันปาล์มแบบไม่ใช้ไอน้ำระดับชุมชน CPP-1500 ราคาเท่าไหร่ค่ะ

    ตอบลบ